ยังมีพระบวชใหม่รูปหนึ่ง เมื่อถึงมื้ออาหารเช้าในวันถัดไปหลังจากครองเพศบรรพชิต เกิดอาการอดรนทนไม่ไหว จึงเอ่ยถามคำถาม เพื่อหวังให้อาจารย์เซนหลงหยาชี้ทางสว่างให้ ดังนี้
"ท่านอาจารย์ ศิษย์มีข้อสงสัยมากมาย ข้อแรก : จิตวิญญาณของคนเราสามารถเป็นอมตะหรือไม่? ข้อสอง : ร่างกายของคนเราต้องเสื่อมสลายเสมอไปหรือไม่? ข้อสาม : คนเราจำต้องตายแล้วเกิดใหม่แน่หรือ? ข้อสี่ : หากเราตายแล้วเกิดใหม่ จะสามารถจำเรื่องราวในชาติที่แล้วได้หรือไม่? ข้อห้า : เซน จะทำให้เราหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดจริงหรือ?..."
จากนั้นศิษย์เซนยังคงถามคำถามต่อเนื่องไปอีกมากมายไม่มีหยุด แต่ขณะที่กำลังจะเอ่ยถามคำถามต่อไป กลับถูกขัดจังหวะด้วยประโยคเดียวของอาจารย์เซนหลงหยาว่า
"ข้าวเช้าของเจ้า เย็นหมดแล้ว"
ปัญญาเซน : การเอาแต่ฟุ้งซ่านถึงสิ่งที่อยู่ห่างไกลจนละเลยปัจจุบันขณะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม เซนเน้นการรักษาจิตปกติ ดำรงสติระลึกรู้อยู่ทุกขณะเวลาในชีวิตประจำวัน เพราะเมื่อมีสติแล้ว ย่อมเข้าใจแก่นแท้ของสิ่งทั้งปวงโดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ
อาจารย์เซนฝอกวงมุ่งหวังที่จะเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนออกไปให้มากที่สุด จึงดำริให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาหลายประการ ส่วนเหล่าพระลูกศิษย์ ด้วยความที่อยากจะสานต่อความหวังของพระอาจารย์ ในการเผยแผ่ศาสนา จึงได้ร่วมใจกันชี้นำให้อุบาสก อุบาสิกา ทำบุญสุนทาน เพื่อนำปัจจัยมาทำนุบำรุงศาสนา
วันหนึ่ง เมื่ออาจารย์ฝอกวงเดินทางกลับมาจากจาริกธรรมยังวัดหงฝ่า มณฑลเจ้อเจียง เหล่าพระลูกศิษย์จึงพากันมารายงานผลงานของตน
พระลูกศิษย์ผู้หนึ่งกล่าวอย่างปลามปลื้มใจว่า
"อาจารย์ วันนี้ศิษย์เทศนาจนโยมที่ท่าทางไม่ได้ร่ำรวยผู้หนึ่ง ควักเงินบริจาคทานถึงหนึ่งร้อยตำลึง โยมผู้นั้นระบุว่ามอบไว้ให้สำหรับสร้างอุโบสถแห่งใหม่"
ต่อมาพระลูกศิษย์อีกผู้หนึ่ง ก็รายงานอาจารย์ด้วยความยินดีว่า
"วันนี้มีโยมที่กำลังไว้ทุกข์ผู้หนึ่ง เดินทางมากราบท่านอาจารย์ ศิษย์เลยเทศนาเขาเรื่องการทำบุญสุนทาน สุดท้าย โยมผู้นั้นตกลงใจมอบธัญพืชที่เก็บไว้สำหรับบริโภคในครอบครัว มาให้วัดเราจำนวนมาก พอฉันไปตลอดทั้งปี"
จากนั้น บรรดาพระลูกศิษย์อื่นๆ ก็รายงานถึงการบริจาคทานของอุบาสก อุบาสิกา ผู้ศรัทธาในคำสอนของนิกายเซน เมื่อฟังจบ อาจารย์เซนฝอกวงกลับขมวดคิ้วนิ่วหน้า พลางกล่าวกับเหล่าศิษย์ว่า
"พวกท่านลำบากมากแล้ว น่าเสียดายที่พวกท่านรับบิณฑบาตทานมามากมายแต่กลับไม่ได้รับบุญกุศลแต่อย่างใด"
เหล่าศิษย์ล้วนไม่เข้าใจ กล่าวถามว่า "เหตุใดรับบิณฑบาตมาก แต่กลับไม่เป็นผลดี"
อาจารย์เซนฝอกวงจึงกล่าวว่า "การหวังแต่จะให้อุบาสกอุบาสิกาเป็นผู้บริจาคปัจจัย เพื่อค้ำจุนศาสนานั้น ไม่ถูกต้อง คล้ายดั่งการฆ่าไก่เอาไข่ เพราะมีแต่เมื่อศาสนิกชนรุ่งเรือง ศาสนาจึงค่อยรุ่งเรือง ศาสนิกชนบริจาคทานปัจจัย ต้องไม่มากเกินควร จนทำให้ตนเองเดือดร้อน ผู้ศึกษาเซนอย่างเรา ไม่พึงคิดถึงแต่ตน แต่ยิ่งต้องคำนึงถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง"
ยังมีอุบาสกผู้หนึ่งหลบฝนอยู่ใต้ชายคา พอดีกับที่มีอาจารย์เซนผู้หนึ่งกางร่มเดินผ่านมา อุบาสกผู้นี้จึงร้องเรียกขอให้อาจารย์เซนพาตนไปด้วย โดยอ้างว่าตามหลักธรรม พระสงฆ์คือผู้ช่วยนำพาสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงทะเลทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ทว่าอาจารย์เซนกลับปฏิเสธคำขอของอุบาสก ทั้งยังกล่าวว่า
"ประสกอยู่ใต้ชายคาซึ่งไม่มีฝน มิได้เปียกปอน ฉะนั้น อาตมาไม่จำเป็นจะต้องพาประสกออกไป"
เมื่ออุบาสกได้ยินดังนั้น จึงก้าวออกมานอกชายคา ยืนอยู่ท่ามกลางสายฝนพรำ จนร่างกายเปียกชุ่มโชก จากนั้นขอร้องอีกครั้งให้อาจารย์เซนพาเขาไปด้วย
ยามนั้น อาจารย์เซนจึงเอ่ยว่า
"ประสกยังคงไม่เข้าใจ แม้ว่าขณะนี้เราทั้งสองล้วนอยู่ใต้สายฝน แต่อาตมาไม่เปียกเพราะมีร่มคุ้ม ส่วนประสกกลับเปียกปอนเพราะไร้ร่มกำบัง ดังนั้น มิใช่ว่าอาตมาไม่พาประสกไป แต่ประสกต้องเสาะหาร่มคุ้มฝนของตน เพื่อข้ามผ่านไปด้วยตนเอง"
ปัญญาเซน : ผู้ดำเนินในกรอบแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยความเพียร จะเห็นแดนพ้นทุกข์ปรากฏขึ้นกับใจของตน
ยังมีพระเซนรูปหนึ่ง ทุกครั้งที่กำหนดจิตใจเพื่อเข้าฌานสมาธิ พลันปรากฏแมงมุมตัวใหญ่เข้ามารบกวนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะไล่อย่างไรก็ไม่ไป
พระเซนไม่ทราบว่าเป็นเรื่องราวใด สุดท้ายได้แต่ไปปรึกษาอาจารย์เซน
เมื่อทราบปัญหาของศิษย์ อาจารย์เซนจึงแนะนำว่า
"ครั้งต่อไปเมื่อเจ้านั่งสมาธิ จงเตรียมพู่กันจุ่มหมึกเอาไว้ หากปรากฏแมงมุมขึ้นอีก เจ้าจงใช้พู่กันในมือวาดวงกลมเอาไว้ที่ท้องของแมงมุมเพื่อทำสัญลักษณ์ คราวนี้เราจะได้รู้กันว่า ที่แท้แล้วแมงมุมตัวนี้ เป็นสัตว์ประหลาดมาจากที่ใดกันแน่"
พระเซนจึงนำคำแนะนำของอาจารย์มาปฏิบัติ
ครั้งต่อมาเมื่อเขาเริ่มนั่งสมาธิและปรากฏแมงมุมออกมารบกวนเช่นเคย จึงรีบใช้พู่กันที่เตรียมเอาไว้ วาดวงกลมบนท้องของแมงมุม
ทว่าเมื่อออกจากสมาธิ พระเซนจึงพบว่า วงกลมที่เขาวาดเอาไว้บนท้องของแมงมุม บัดนี้กลับมาอยู่บนท้องของเขาเอง
ยามนี้อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "ความคิดร้ายดีล้วนสร้างจากใจ ที่แท้แมงมุมตัวนั้นเป็นจิตของเจ้านั่นเองที่สร้างขึ้นมา"
ปัญญาเซน : อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของคนเรา มักเกิดขึ้นมาจากภายในจิตใจของตนเอง
ยังมีแพทย์สงครามผู้หนึ่ง ทำหน้าที่รักษาเหล่าทหารที่บาดเจ็บในสมรภูมิรบมานับไม่ถ้วน ทหารหลายรายได้รับการรักษาจากแพทย์สงครามจนหายดี แต่กลับไปเสียชีวิตกลางสนามรบก็มีไม่น้อย
เหตุการณ์เหล่านี้วนเวียนไป จนกระทั่งนานวันเข้า แพทย์สงครามค่อยๆ สั่งสมความทุกข์ขึ้นในจิตใจจนถึงที่สุด เขาเอาแต่ครุ่นคิดว่า
"หากทหารที่ตายในสนามรบเหล่านั้นชะตาขาดอยู่แล้ว เหตุใดต้องมาให้ข้ารักษาจนหายก่อนค่อยไปตายอีก และหากข้ารักษาคนเจ็บจนหายดี แต่สุดท้ายเขาต้องกลับไปตายในสงคราม เช่นนั้นวิชาแพทย์ของข้าจะมีความหมายอันใด"
เมื่อคิดถึงตอนนี้ เขาจึงรู้สึกว่าการเป็นแพทย์สงครามนั้นช่างไร้ค่าสิ้นดี
แพทย์สงครามไม่อาจปฏิบิติหน้าที่ต่อไปได้ จึงตัดสินใจออกเดินทางขึ้นเขาไปพบอาจารย์เซน และบอกเล่าถึงความทุกข์ใจของตนเอง
ทั้งยังถามอาจารย์เซนว่า หากเหตุการณ์ยังวนเวียนอยู่เช่นนี้ต่อไป เขายังจะดำรงอาชีพเป็นแพทย์สงครามไปทำไม?
เขารั้งอยู่บนยอดเขากับอาจารย์เซน ผ่านวันเวลาเนิ่นนานในการหาคำตอบ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาจึงได้กลับลงเขามาเป็นแพทย์สงครามเช่นเดิม เนื่องจากเขาค้นพบคำตอบของคำถามนี้แล้ว
แพทย์สงครามกล่าวกับตนเองว่า "ที่ข้าต้องทำหน้าที่ต่อไป เนื่องเพราะข้าคือแพทย์ผู้หนึ่งอย่างไรเล่า"
ปัญญาเซน : สรรพสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัย อยู่กับปัจจุบัน มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น มิใช่ตามที่ตนอยากหรือไม่อยากให้เป็น
เมื่อซั่นจิ้งอายุได้ 27 ปี ได้ละทิ้งตำแหน่งขุนนางเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เดินทางขึ้นเขาเล่อผู่ ไปกราบเป็นศิษย์ของอาจารย์เซนหยวนอาน อาจารย์มอบหมายให้ซั่นจิ้งดูแลสวนผักของวัด หวังให้เขาได้เรียนรู้ปรัชญาเซนจากการทำงานในสวนผัก
วันหนึ่ง ที่วัดมีพระหนุ่มรูปหนึ่งเข้าใจว่าตนเองสำเร็จธรรมะแล้ว อยากลงเขาออกธุดงค์ไปในโลกกว้าง จึงได้ไปกราบขออนุญาตจากอาจารย์เซนหยวนอาน เมื่ออาจารย์เซนหยวนอานได้ทราบความต้องการของพระหนุ่ม เพียงแต่แย้มยิ้มและกล่าวว่า
“สี่ทิศล้วนคือภูสูง เจ้าจักไปในทางใด?” ทว่าพระหนุ่มมิอาจเข้าใจปรัชญาเซนที่แฝงอยู่ในคำถามนั้น จึงได้แต่หมุนตัวกลับไป
พระหนุ่มบังเอิญผ่านไปยังแปลงผักของวัด พอดีกับที่ซั่นจิ้งกำลังดายหญ้าอยู่ เมื่อซั่นจิ้งเห็นพระรูปนี้ออกอาการหน้านิ่วคิ้วขมวด จึงได้เอ่ยถามว่า "ศิษย์พี่เป็นไรไปแล้ว?"
พระหนุ่มจึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวโดยละเอียดให้ศิษย์น้องฟัง
เมื่อได้ฟัง ซั่นจิ้งพลันเข้าใจทันทีว่า “ภูสูงสี่ทิศ” หมายถึง อุปสรรคนานัปการ ที่แท้อาจารย์เซนหยวนอานเพียงต้องการทดสอบว่า พระหนุ่มมีความตั้งใจมั่นในการไปธุดงค์มากน้อยเพียงใด แต่น่าเสียดายที่พระรูปนี้ไม่เข้าใจความนัย ซั่นจิ้งจึงบอกว่า
“กอไผ่ทึบมิอาจกั้นสายน้ำไหล ภูผาสูงมิอาจขวางเมฆลอย” ความหมายคือ หากแม้มีความมุ่งมั่นพยายาม อุปสรรคใดๆ ก็ล้วนผ่านไปได้
พระหนุ่มยินดียิ่ง รีบกลับไปพบอาจารย์เซนหยวนอาน จากนั้นจึงกล่าวประโยคที่ว่า “กอไผ่ทึบมิอาจกั้นสายน้ำไหล ภูผาสูงมิอาจขวางเมฆลอย” ออกมา ทั้งยังมั่นใจว่าอาจารย์จะต้องพอใจและเอ่ยปากชมเชย แล้วตนก็จะออกเดินทางลงเขาทันที
มิคาด เมื่ออาจารย์เซนฟังจบ นิ่งอึ้งไปครู่หนึ่ง จากนั้นขมวดคิ้วจ้องตาพระหนุ่มพลางกล่าวว่า "นี่ย่อมมิใช่คำตอบที่เจ้าคิดเอง ผู้ใดช่วยเหลือเจ้ากันแน่?"
พระหนุ่มเห็นอาจารย์เซนหยวนอานปักใจเพียงนั้น จึงได้แต่สารภาพ เอ่ยชื่อพระซั่นจิ้งออกมา อาจารย์เซนหยวนอานจึงได้กล่าวกับพระหนุ่มว่า
"ในภายภาคหน้า…
ไป๋จีว์อี้เป็นกวีเอกนามกระเดื่องในสมัยราชวงศ์ถัง โดยในบันทึกของเขาระบุว่า ตนเองประพันธ์บทกวีไว้ทั้งสิ้น 3,840 บท ซึ่งหากนับกวีในยุคเดียวกัน ถือว่าเขาประพันธ์บทกวีไว้มากเป็นอันดับหนึ่งของแผ่นดิน
ไป๋จีว์อี้มีอีกนามหนึ่งว่า “เล่อเทียน” ในวัยหนุ่มผ่านชีวิตลำบากยากแค้น จึงมีความเข้าอกเข้าใจความทุกข์ทรมานจากความยากจนของคนในสังคม
เมื่ออายุได้ 28 ปี เขาสอบจอหงวนได้ในตำแหน่งจิ้นซื่อจึงได้เข้ารับราชการ ต่อมาถูกข้อหากระทำผิดต่อราชสำนัก ถูกลดยศไปรับตำแหน่งขุนนางดูแลเมืองเจียงโจว สุดท้ายสังกัดกระทรวงยุติธรรม
เล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง ไป๋จิว์อี้เดินทางไปกราบอาจารย์เซนผู้หนึ่ง เมื่อไปถึงพบว่าที่พำนักของอาจารย์เซนคือยอดต้นสนสูงชัน ซึ่งมองดูแล้วไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง
ไป๋จีว์อี้จึงปรารภกับอาจารย์เซนว่า "ตำแหน่งที่ท่านอาจารย์อยู่ ดูไปอันตรายยิ่งนัก"
อาจารย์เซนจึงกล่าวตอบมาว่า "ตำแหน่งของเจ้าตอนนี้ ยิ่งอันตรายมากกว่ามาก"
ไปจีว์อี้จึงถามกลับด้วยความงุนงงว่า "กระผมมีตำแหน่งทางราชการมั่นคง ทำงานเพื่อบ้านเมือง จะมีอันตรายได้อย่างไร?" "สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปรตลอดเวลา ดั่งฟืนสุมกองไฟไม่มีหยุด หากใจไม่นิ่ง กระสับกระส่ายวุ่นวายไปตามสิ่งเร้ารอบด้าน ย่อมทำให้เจ้าตกอยู่ในอันตรายอย่างที่สุด" อาจารย์เซนกล่าวตักเตือน
ปัญญาเซน : ดำรงสติอยู่กับปัจจุบันขณะในทุกการกระทำ ไม่ว่าอยู่ที่ใดล้วนรอดปลอดภัย หากไร้สติอยู่กับตัว ทุกๆ แห่งกลับเป็นที่อันตราย
ครั้งหนึ่งซูตงโพได้ประพันธ์บทกวี ความว่า “อภิวาทองค์เหนือฟ้า รัศมีเจิดจ้าส่องไพศาล ลมแปดทิศพัดโบกไม่สะท้าน ประทับมั่นในปทุมม่วงทอง”
ซึ่งคำว่า “ลมแปดทิศ” ในที่นี้หมายถึง โลกธรรมแปด อันประกอบด้วย ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
เมื่อประพันธ์เสร็จ ซูตงโพเข้าใจว่าบทกวีบทนี้ของตน มีความลุ่มลึกในทางธรรมไม่น้อย จึงได้ให้คนนำไปมอบให้อาจารย์เซนฝออิ้น ณ วัดจินซาน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ โดยหวังว่าเมื่ออาจารย์เซนได้อ่านคงจะยกย่องตนในฐานะที่ปฏิบัติธรรมจนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว
เมื่ออาจารย์เซนเปิดบทกวีออกอ่าน ได้หยิบพู่กันเขียนอักษรเติมลงไปสองตัว จากนั้นให้คนนำกลับมาคืนซูตงโพ
มิคาด เมื่อซูตงโพเปิดดู ก็พบข้อความของอาจารย์เซนฝออิ้น ที่เขียนเอาไว้เพียงว่า “ผายลม” ทำให้เขาบันดาลโทสะยิ่งนัก จึงรีบขึ้นเรือข้ามน้ำไปพบอาจารย์เซนยังวัดจินซานทันที
เมื่อพบอาจารย์เซน ซูตงโพก็เอ่ยถามด้วยความเกรี้ยวกราดว่า เหตุใดอาจารย์เซนจึงได้ใช้ข้อความระรานผู้อื่นถึงเพียงนี้
อาจารย์เซนเพียงตอบว่า "ท่านว่าลมแปดทิศพัดมาไม่สะท้าน แต่ไฉนเพียงหนึ่งผายลม จึงพัดจนท่านข้ามแม่น้ำมาได้?" เมื่อนั้นซูตงโพจึงค่อยสำนึกตัวได้
ปัญญาเซน : จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม คือมงคลชีวิตประการหนึ่ง
อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียน เป็นผู้บรรลุธรรมขั้นสูง จึงมีผู้มาปวารณาตัวเป็นศิษย์มากมาย
วันหนึ่ง ศิษย์เซนต้งซานได้มาสนทนาธรรรมกับอาจารย์เซนอวิ๋นเหยียน จากนั้นจึงเอ่ยปากว่าจะขอสิ่งหนึ่งจากอาจารย์ อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนจึงกล่าวถามว่าต้องการสิ่งใด
ต้งซานตอบอย่างสุภาพว่า "ศิษย์ขอดวงตาของท่านอาจารย์"
เมื่อได้ยินดังนั้น อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนยังคงสำรวมตน เพียงกล่าวถามกลับไปว่า "แล้วดวงตาของท่านเองเล่า"
ต้งซานตอบว่า "ศิษย์ไม่มีดวงตามาตั้งแต่แรก"
อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนจึงถามกลับไปว่า "เช่นนั้น หากเจ้ามีดวงตา ดวงตาของเจ้าจะอยู่ ณ ที่ใด?" ต้งซานไม่ตอบคำ
ครู่หนึ่ง อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนก็กล่าวถามอีกว่า "แท้จริงแล้ว ที่เจ้าต้องการคือดวงตาของข้า หรือดวงตาของตัวเจ้าเองกันแน่?"
มิคาดต้งซานกลับถอนหายใจ พลางตอบว่า "ที่แท้แล้ว ที่ศิษย์ต้องการ กลับมิใช่ดวงตา"
ครั้งนี้อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนไม่ต่อคำ เพียงบอกให้ต้งซานกลับออกไป ทว่าศิษย์ต้งซานยังคงไม่ขยับเขยื้อน ทั้งยังกล่าวว่า "ศิษย์ไม่มีดวงตา แม้นออกไปก็มองไม่เห็นหนทาง"
ยามนั้นอาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนยกมือขึ้นตบที่อกของตนเอง พลางเอ่ยว่า "เมื่อครู่เรามิใช่ให้เจ้าไปตั้งแต่แรกแล้วหรือ ไฉนยังบอกว่ามองไม่เห็นอีกเล่า?"
ปัญญาเซน : ดวงตาที่มองเห็นธรรม เป็นสิ่งเฉพาะตน ที่มิอาจให้ผู้ใดและมิอาจเอาจากผู้ใด ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้บรรลุธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง
ยังมีสมณะรูปหนึ่งนามว่า “เต้าซิ่ว” เป็นผู้มีความมุมานะในการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง ทว่าทำอย่างไรก็ยังมิอาจบรรลุธรรม มองไปรอบข้างนักบวชรูปอื่นๆ ที่เพิ่งศึกษาธรรมทีหลังตน มีไม่น้อยสามารถเข้าถึงแก่นแท้แห่งเซนแล้ว
สมณะเต้าซิ่วเห็นดังนั้นจึงเข้าใจว่า ตนเองคงไม่มีคุณสมบัติในการศึกษาเซน ขาดปฏิภาณไหวพริบ สุดท้ายตัดสินใจออกธุดงค์เพื่อหวังว่าจะมีความสำเร็จ
ก่อนเดินทาง สมณะเต้าซิ่วได้เข้ามากราบลาอาจารย์เซนก่วงอี่ว์ โดยกล่าวกับอาจารย์ว่า
"ท่านอาจารย์ ศิษย์ทำให้ความเมตตากรุณาของท่านต้องสูญเปล่า นับตั้งแต่ศิษย์ออกบวชอยู่ที่วัดนี้มานานนับ 10 ปี ยังคงไม่อาจเข้าถึงเซนได้แม้เพียงกระผีก ดูไปศิษย์คงไร้วาสนา จึงได้แต่ออกไปธุดงค์ เพื่อหาทางเข้าถึงธรรมด้วยวิธีอื่น"
อาจารย์เซนก่วงอี่ว์จึงตอบศิษย์ว่า "ในเมื่อเจ้ายังไม่บรรลุธรรม เหตุใดจึงออกเดินทางจากที่นี่ไป หรือว่าเจ้าจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ในสถานที่อื่น?"
เต้าซิ่วจึงอธิบายความในใจต่ออาจารย์เซนว่า "ศิษย์อยู่ที่นี่ ทุกๆวันนอกจากรับประทานอาหารและนอนหลับแล้ว ล้วนใช้เวลาทั้งหมดไปกับการบำเพ็ญเพียร ศิษย์ทุ่มเท ทว่าไร้วาสนา ขณะที่สมณะรูปอื่นแม้ไม่พากเพียรเท่า แต่กลับพบความก้าวหน้ามากกว่า เห็นทีศิษย์คงต้องออกธุดงค์พบความลำบาก เผื่อว่าจะสามารถบรรลุธรรม"
อาจารย์เซนก่วงอี่ว์ได้ฟังจึงกล่าวว่า "รู้แจ้ง...คือสิ่งที่ออกมาจากภายในตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สามารถอธิบายความได้ ทั้งยังไม่อาจส่งต่อให้ผู้อื่น หากยังไม่รู้ ก็มิอาจเร่งให้รู้ ผู้อื่นก็คือผู้อื่น เจ้าก็คือเจ้า เจ้าต้องศึกษาเซนไปตามวิถีของตนเอง มิสามารถนำสองเรื่องนี้มาปนกันได้" "ท่านอาจารย์ ท่านยังไม่เข้าใจ เมื่อเทียบการเรียนรู้ของตัวศิษย์กับผู้อื่น ก็ไม่ต่างกับนำพญาอินทรีมาเทียบกับนกกระจอกอย่างไรอย่างนั้น" สมณะเต้าซิ่วยังคงดึงดัน
"ใหญ่อย่างไร เล็กอย่างไร" อาจารย์เซนถาม
สมณะเต้าซิ่วตอบว่า "พญาอินทรีเพียงกางปีกก็บินไปได้ไกลหลายร้อยลี้ ทว่าศิษย์ได้แต่บินต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไปได้ไม่กี่จั้ง*เท่านั้น" (*จั้ง คือหน่วยวัดของจีน…