Skip to content Skip to footer

นิทานเซน

อาจารย์เซนทำนายฝัน

ยังมีบัณฑิตผู้หนึ่ง เดินทางเข้าเมืองหลวง เพื่อหวังเข้าร่วมการสอบจอหงวน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว โดยในระหว่างที่รอเวลาสอบ ได้ขออาศัยอยู่ที่วัดเซนแห่งหนึ่ง ทว่าในคืนก่อนสอบ เมื่อบัณฑิตล้มตัวลงนอนหลับไป เขาได้ฝันถึงเหตุการณ์สามเหตุการณ์ดังนี้ ความฝันที่หนึ่งคือ เขาปีนขึ้นไปปลูกผักกาดขาวอยู่บนกำแพง ความฝันที่สองคือ ในฝันฝนตก ส่วนเขาก็สวมงอบทั้งยังกางร่มอีกหนึ่งคัน ความฝันสุดท้าย เขานอนอยู่กับหญิงสาวที่แอบรัก ทั้งสองเปลือยเปล่า แต่กลับนอนหันหลังชนกัน เมื่อตื่นขึ้นมา ความฝันทั้งสามเรื่องรบกวนจิตใจ จนบัณฑิตหนุ่มต้องรีบไปหาหมอดูเพื่อให้ช่วยทำนายความฝัน ไขปริศนาให้กระจ่าง เมื่อหมอดูได้ทราบเรื่องราวความฝันทั้งหมดก็กล่าวอย่างมั่นใจว่า “พ่อหนุ่มจงเดินทางกลับบ้านไปเถิด การสอบครั้งนี้คงไม่ราบรื่น เจ้าลองคิดดูว่าการปลูกผักบนกำแพงย่อมไม่เห็นผล มิใช่เสียแรงเปล่าดอกหรือ? ส่วนการใส่งอบแล้วยังกางร่มก็เป็นการทำสิ่งที่เกินความจำเป็น และการได้นอนคู่กับหญิงสาวที่รักแต่กลับหันหลังให้กัน นั่นก็หมายถึงอยากกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่กลับไร้ซึ่งความหวังนั่นเอง” เมื่อฟังคำทำนายจบ บัณฑิตหนุ่มหมดอาลัยตายอยาก ว่าความฝันทั้งสามเรื่อง คงเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าถึงผลการสอบจอหงวนของตน สุดท้ายจึงเดินทางกลับวัดเซน เพื่อเก็บข้าวของเตรียมตัวกลับบ้าน เมื่อมาถึงวัด บัณฑิตหนุ่มบังเอิญได้พบกับอาจารย์เซน จึงถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง ทั้งยังกราบลาอาจารย์เซน ทว่าอาจารย์เซนกลับกล่าวตอบอย่างแย้มยิ้มว่า “ข้าเองก็สามารถทำนายฝันได้เช่นกัน แต่กลับเห็นว่าความฝันของเจ้าต้องตีความดังนี้ ความฝันแรก การได้ปีนขึ้นไปปลูกผักบนกำแพงสูง ย่อมหมายถึงเจ้าจะสอบติดในตำแหน่งสูง(คำจีนที่แปลว่า “ปลูก” พ้องเสียงกับคำที่แปลว่า “ได้สำเร็จ”) ความฝันต่อมา…

Read more

การเชื่อฟัง

มีอาจารย์ผู้มีเชื่อเสียงคนหนึ่ง ชื่อว่า เบ็งกะอี เป็นผู้มีชื่อเสียงในการเทศนาธรรม คนที่มาฟังท่านนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ ในวงของ พวกนิกายเซ็น พวกนิกายอื่น หรือคนสังคมอื่น ก็มาฟังกัน ชนชั้นไหนๆ ก็ยังมาฟัง เพราะว่า ท่านไม่ได้เอา ถ้อยคำในพระคัมภีร์ หรือในหนังสือ หรือ ในพระไตรปิฎกมาพูด แต่ว่าคำพูด ทุกคำนั้น มันหลั่งไหล ออกมาจาก ความรู้สึกในใจ ของท่านเองแท้ๆ ผลมันจึงเกิดว่า คนฟังเข้าใจ หรือชอบใจ แห่กันมาฟัง จนทำให้ วัดอื่น ร่อยหรอและไม่มีใครไปฟังพระเทศน์เลย จึงเป็นเหตุให้ภิกษุรูปหนึ่ง ในนิกาย นิชิเรน โกรธมาก คิดจะทำลายล้าง อาจารย์เบ็กกะอี คนนี้อยู่เสมอ วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านองค์นี้ กำลังแสดงธรรม อยู่ในที่ประชุม พระที่เห็นแก่ตัวจัดองค์นั้น ก็เดินเข้ามา และหยุดยืนอยู่หน้าศาลา จากนั้นก็ตะโกนว่า “เฮ้ย! อาจารย์เซ็น หยุด ประเดี๋ยวก่อน ทุกคนจงฟังฉันก่อน ท่านจะทำอย่างไรที่จะทำให้ฉันเคารพเชื่อฟังท่านได้” พร้อมกับหัวเราะเสียงดังด้วยความอวดดี เมื่อภิกษุอวดดีองค์นั้น ร้องท้าไปเรียบร้อย…

Read more

คนไร้ตาถือโคมไฟ

"คนตาบอดถือโคมไฟ" ข้อคิดดีๆ ที่เหมาะกับการนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ ตรอกสายหนึ่งที่ทั้งมืดทั้งแคบ…ไม่มีดวงไฟส่องทางให้ความสว่างแม้แต่น้อย มืดมากกระทั่งนิ้วมือทั้งห้า ยังไม่อาจมองเห็นได้ คืนวันหนึ่ง… พระรูปหนึ่งเดินผ่านเข้ามายังตรอกเพื่อมุ่งหน้าไปยังอาราม เมื่อเดินไปเรื่อยๆ พระรูปนี้จึงทั้งเดินไปชนผู้อื่น และถูกผู้อื่นเดินมาชนไม่หยุดหย่อน สร้างความลำบากยิ่งนัก… ตอนนั้นเอง คนผู้หนึ่งถือโคมไฟ เดินเข้ามายังตรอกดังกล่าว พลันทำให้ในตรอกเกิดแสงสว่างขึ้นพอสมควร พระได้ยินคนเดินผ่านทางกล่าวว่า… “ คนตาบอดผู้นั้นช่างแปลกนัก ตนเองมองไม่เห็นแท้ๆ ใยต้องถือโคมไฟให้วุ่นวาย ” เมื่อพระได้ยินก็รู้สึกแปลกใจ รอจนกระทั่งคนตาบอด ถือโคมไฟคนนั้นเดินผ่านมา จึงเอ่ยถามขึ้นว่า… “ ขออภัย ท่านตาบอดจริงๆ หรือ…? ” คนผู้นั้นตอบว่า… “ถูกแล้ว ข้าเกิดมาก็พิการตาสองข้างมองไม่เห็น สำหรับข้านั้นไม่ว่าจะยามเช้า สาย บ่าย เย็น ล้วนไม่ต่างกัน ทั้งยังไม่ทราบว่า แสงสว่างหน้าตาเป็นเช่นไร” พระได้ยินดังนั้นก็ ยิ่งงุนงงมากขึ้น เอ่ยถามต่อไปว่า… “เช่นนั้นท่านจะถือโคมไฟไปเพื่ออะไร?” คนตาบอดตอบว่า…. “เนื่องเพราะข้าเคยได้ยินคนพูดกันว่าในยามกลางคืน ไร้แสงสว่าง คนตาดีทั้งหลายก็เป็นเช่นเดียวกับข้า คือมองไม่เห็นสิ่งใด เมื่อครู่ท่านเดินอย่างมืดมนในตรอกใช่โดนคนเดินสวนไปมาชนเอา ใช่หรือไม่?" " ท่านดูข้าเองนั้นแม้เป็นคนตาบอด…

Read more

อาจารย์เซนปราบโจร

ค่ำวันหนึ่ง ขณะที่อาจารย์เซนชีหลี่กำลังนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอยู่ในอารามอันเงียบสงัด ปรากฏโจรผู้หนึ่งลอบเข้ามาในกุฏิ ทั้งยังใช้มีดยาวจ่อที่ลำคอของอาจารย์เซนพลางกล่าวว่า "ส่งเงินในตู้มาให้ข้าให้หมด ไม่งั้นข้าจะเอาชีวิตเจ้า" อาจารย์เซนตอบกลับเรียบๆ ว่า "เงินอยู่ในลิ้นชัก มิได้อยู่ในตู้ ท่านจงหยิบฉวยเอาเอง แต่อย่านำไปหมด เหลือเอาไว้บ้าง เพื่อให้เราใช้ประทังชีพในวันพรุ่งนี้" จอมโจรไม่คาดคิดว่าจะสามารถปล้นเงินได้อย่างง่ายดายถึงเพียงนี้ จึงกล่าวด้วยความลิงโลดว่า "ยังนับว่าเจ้าพอมีหัวคิดอยู่บ้าง เจ้าลาโล้น!" มิคาด อาจารย์เซนกลับโพล่งขึ้นมาว่า "เอาเงินผู้อื่นไปมากมายขนาดนี้ ท่านควรกล่าวขอบใจสักคำหนึ่ง การที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์นั้น ไม่ควรละโมบโลภมากจนเกินไป แต่ควรหลงเหลือช่องว่างที่จะแบ่งปันให้ผู้อื่นบ้าง" "ขอบใจ" จอมโจรกล่าวตัดรำคาญ พลางหันกายหมายจากไป ทว่าในใจกลับเกิดความสับสน เพราะเป็นโจรมากว่า 10 ปี กลับเพิ่งเคยพบพานบุคคลเช่นอาจารย์เซนเป็นครั้งแรก หลังจากลังเลชั่วครู่ จึงตัดใจหยิบเงินส่วนหนึ่งโยนกลับเข้าไปในลิ้นชัก แล้วจึงจากไป ภายหลังจากนั้นไม่นาน จอมโจรพลาดพลั้งถูกทางการจับกุมตัวได้ เมื่อฟังจากคำให้การ เจ้าหน้าที่ทางการจึงนำจอมโจรมาพบกับอาจารย์เซนชีหลี่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ทางการจึงสอบถามอาจารย์เซนว่า "หลายวันก่อน โจรผู้นี้ได้เข้ามาปล้นเงินทองไปจากวัดของท่านไป ใช่หรือไม่?" อาจารย์เซนกลับตอบว่า "เขาไม่ได้ปล้น แต่เป็นเราที่มอบเงินทองให้เขาไปเอง ก่อนจากไปเขายังกล่าวขอบใจเราอีกด้วย" เมื่อโจรผู้นั้นได้ฟัง ก็เห็นซึ้งถึงจิตเมตตาของอาจารย์เซน จนหลั่งน้ำตาออกมา จากนั้นจึงขอบวชเป็นศิษย์ของอาจารย์เซนชีหลี่ ซึ่งในตอนแรกอาจารย์เซนมิได้ตอบรับ กระทั่งโจรกลับใจผู้นั้นคุกเข้าขอร้องอยู่หน้าวัดเป็นเวลา 3 วัน…

Read more

ศิษย์ที่หลงทาง

ยังมีศิษย์เซนผู้หนึ่ง มีนิสัยเกียจคร้าน ทั้งยังชอบลักขโมยของผู้อื่น พฤติกรรมของเขาเป็นที่เอือมระอาของศิษย์เซนคนอื่นๆ เป็นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อศิษย์เซนเจ้าปัญหา ถูกจับได้ว่าลักขโมยอีกครั้ง บรรดาศิษย์คนอื่นๆ จึงได้รวมตัวกันมาฟ้องร้องต่ออาจารย์เซนผานกุย โดยยื่นคำขาดว่า หากอาจารย์เซนไม่กำจัดศิษย์ผู้นี้ ให้พ้นไปจากอารามโดยทันที เหล่าศิษย์ที่เหลือจะเป็นฝ่ายออกไปจากอารามเซนแห่งนี้แทน มิคาด เมื่อได้ทราบเรื่องราว อาจารย์เซนผานกุยกลับกล่าวกับทุกคนว่า “พวกท่านล้วนเป็นผู้มีสติปัญญา สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดถูก-ผิด สิ่งใดดี-ชั่ว หากพวกท่านพาตัวพ้นจากอารามเซนแห่งนี้ไป ล้วนไม่ก่อปัญหาภายนอก ทว่าศิษย์ผู้นี้ แม้แต่ถูก-ผิด เขายังมิอาจแยกแยะได้ หากเราไม่สอนเขา แล้วผู้ใดจะสอนเขา ดังนั้น เราจำเป็นต้องให้เขาอยู่ที่อารามแห่งนี้กับเรา ส่วนพวกท่าน หากว่ามีผู้ใดไม่พอใจ และตัดสินใจออกจากอารามนี้ไป ก็สุดแท้แต่เถิด” เมื่อได้ยินดังนั้น ศิษย์เซนเจ้าปัญหา ได้แต่คุกเข่าลงกับพื้น ด้วยความซาบซึ้งใจในจิตเมตตาของอาจารย์เซน และพยายามกลับตัวเป็นคนดีในที่สุด

Read more

อารมณ์ร้ายโดยสันดาน

ครั้งหนึ่ง มีอุบาสกเอ่ยถามอาจารย์เซนผานกุยว่า "ข้าเป็นคนอารมณ์ร้ายโดยสันดาน ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์จะชี้ทางแก้ไขได้หรือไม่?” อาจารย์เซนผานกุยถามว่า "เป็น ‘สันดาน’ อย่างไร? ตอนนี้เจ้าจงแสดงออกมา เพื่อที่ข้าจะได้ช่วยแก้ไข" อุบาสกผู้นั้นจึงกล่าวว่า "มิสามารถทำได้ เพราะตอนนี้ไม่มี ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ใดมากระทบ สันดานอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้ายนั้น จึงจะแสดงออกมา" ได้ฟังดังนั้น อาจารย์เซนผานกุยจึงกล่าวว่า "หากในตอนนี้ไม่มี ก็ไม่นับเป็นสันดาน โทสะเป็นนิสัยที่เจ้าเพาะสร้างขึ้น แต่สันดานคือสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด หากเจ้าเรียกโทสะว่าเป็นสันดาน ยิ่งทำให้ยากที่จะแก้ไข ทั้งยังไม่เป็นธรรมต่อบุพการีของเจ้าสักเท่าใด" ยามนั้นอุบาสกจึงสำนึกได้ พยายามปรับปรุงนิสัย ไม่อารมณ์เสียง่ายๆอีก ปัญญาเซน : ธรรมชาติของจิตล้วนผ่องใส เมื่อวางได้จึงหลุดพ้น

Read more

ล้างจาน-ถูพื้น

พุทธศาสนานิกายเซน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการศึกษาเซนที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ความว่า ยังมีศิษย์เซนบวชใหม่รูปหนึ่ง ต้องการศึกษาปรัชญาเซนให้ลึกซึ้งถึงแก่น จึงได้ไปกราบอาจารย์เซนเจ้าโจว พลางกล่าวว่า "กระผมเพิ่งเข้ามาสู่เส้นทางเซน จึงอยากของร้องให้ท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะการศึกษาธรรมให้เป็นพิเศษ ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้" อาจารย์เซนเจ้าโจว กลับถามว่า "เจ้ารับประทานอาหารเช้าแล้วหรือยัง?" ศิษย์เซนงุนงงเล็กน้อย ที่อาจารย์ตอบไม่ตรงคำถาม แต่ก็ตอบกลับไปว่า "รับประทานแล้ว ขอบคุณครับท่านอาจารย์" มิคาด...อาจารย์เซนยังกล่าวต่อไปว่า "ถ้าเช่นนั้นจงนำจานชามที่เจ้าใช้ใส่อาหาร ไปล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย" "ล้างสะอาดแล้วครับ" ศิษย์เซนตอบอย่างอดทน "งั้นก็จงไปถูพื้นให้สะอาด" อาจารย์เซนยังสั่งต่อไป ถึงตอนนี้ ศิษย์เซนหมดความอดทน จึงเอ่ยถามอาจารย์เซนอย่างประชดประชัน ด้วยความไม่พอใจว่า "นอกจากล้างจานชาม ทำความสะอาดพื้นแล้ว ท่านอาจารย์ไม่มีหลักธรรมอื่นใดจะสอนกระผมแล้วหรือ?" คราวนี้ อาจารย์เซนจึงกล่าวตอบศิษย์ผู้นี้ไปว่า "หากมิใช่ล้างชามถูพื้นแล้ว เราก็ไม่รู้หรอกว่า เจ้าจะสามารถบรรลุธรรมจากวิธีอื่นใดได้อีก?" ปัญญาเซน : เซน มุ่งเน้นให้อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างมีสติ เนื่องเพราะพุทธภาวะนั้น สามารถเกิดได้ในทุกที่ทุกเวลา การรู้แจ้งอย่างเซนเกิดจากการปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันอย่างผู้ที่ตื่นอยู่ทุกขณะจิต

Read more

ผีบนต้นไม้

อาจารย์เซนอวิ๋นจีว์ นามเดิมเต้าฉี ชาวเมืองหนานชัง มักจะไปนั่งวิปัสสนายังถ้ำในป่าลึกเป็นประจำ พอดีกับที่ในละแวกนั้น มีเด็กซนกลุ่มหนึ่งคิดแผนการแกล้งอาจารย์เซน ด้วยการหลบซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ ณ เส้นทางที่อาจารย์เซนอวิ๋นจีว์ต้องเดินผ่าน ยามค่ำ เมื่ออาจารย์เซนเดินผ่านมา เด็กซนผู้หนึ่งจึงยื่นมือฝ่าความมืดลงไปลูบศีรษะอาจารย์เซน โดยเดิมทีเหล่าเด็กซนคาดการณ์ว่า อาจารย์เซนจะต้องสะดุ้งตกใจ เพราะคิดว่าเป็นผีมาหลอก ทว่าเมื่อโดนลูบศีรษะ อาจารย์เซนกลับสงบสำรวมดังเดิม เมื่อผิดคาด เหล่าเด็กๆจึงเป็นฝ่ายตกใจจนหดมือกลับไปเอง ส่วนอาจารย์เซนก็เดินต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันถัดมา เหล่าเด็กซนยังไม่ละความพยายาม มาดักรออาจารย์เซน เมื่อพบหน้าก็แกล้งเอ่ยถามว่า "ท่านอาจารย์ ได้ข่าวว่าละแวกนี้มีผีออกอาละวาดหลอกหลอน เกิดเรื่องเช่นนี้จริงหรือไม่?" อาจารย์เซนอวิ๋นจีว์ตอบว่า "ไม่จริง" เหล่าเด็กยังคงถามต่อไปว่า "จริงหรือ แต่พวกเราได้ยินมาว่า ยามค่ำคืนมีคนโดนผีร้ายจับศีรษะด้วยนะ" อาจารย์เซนตอบว่า "นั่นมิใช่ผีร้าย เป็นเพียงเด็กในหมู่บ้าน" เด็กๆต่างงุนงงที่อาจารย์เซนรู้ทัน จึงถามว่า "ท่านทราบได้อย่างไร?" อาจารย์เซนจึงชี้แจงว่า "เพราะมือที่จับศีรษะนั้น ทั้งนุ่มนิ่มและอบอุ่น ย่อมมิใช่ผีร้าย" ผู้เผชิญความตายแล้วไม่กลัวเกรง คือแม่ทัพใหญ่ ผู้เข้าป่าไม่กลัวสัตว์ร้ายย่อมเป็นนายพราน ผู้ลงน้ำไม่เกรงสิ่งใดมีเพียงชาวประมง ส่วนผู้บรรลุแล้วย่อมไร้ซึ่งความหวาดกลัวอันใด ปัญญาเซน : เมื่อรู้แจ้งย่อมไร้ซึ่งจิตขลาดกลัว

Read more

ความกลัดกลุ้มของตะขาบ

มีกบตัวหนึ่งที่เฝ้าสังเกตการเดินของตะขาบตัวหนึ่งอยู่เสมอ เวลาผ่านไปนานเข้า เกิดเป็นความงุนงงสงสัยขึ้นในใจ ครุ่นคิดว่า “ตัวข้าเองมีเพียง 4 ขา ยังเคลื่อนไหวไปมาได้ยากลำบาก แต่ไฉนตะขาบที่มีขานับร้อย จึงเดินได้อย่างปลอดโปร่งเพียงนี้ ช่างแปลกประหลาดยิ่งนัก ยามเดินเหิน ตะขาบทราบได้อย่างไรว่า จะหยุดขาข้างไหน ขยับขาข้างไหน จากนั้นก้าวขาไหนตามออกไปกันเล่า?” กบจึงตัดสินใจออกไปขวางทางเดินของตะขาบเอาไว้ จากนั้นเอ่ยถามว่า “ข้าถูกเจ้าทำให้งุนงงสงสัยไปหมดแล้วว่า ในแต่ละวันเจ้าเดินเหินได้อย่างไร ด้วยขาที่มากมายขนาดนี้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้” ตะขาบตอบว่า “ข้าเดินแบบนี้มาโดยตลอด ไม่เคยคำนึงถึงเรื่องนี้ แต่ในเมื่อวันนี้เจ้าถามขึ้นมา ข้าก็จะขอเวลาคิดดูสักครู่ แล้วค่อยตอบคำถามของเจ้า” ตะขาบยืนนิ่งอยู่พักใหญ่ เพื่อขบคิดว่า ที่ผ่านมาตนเองเดินอย่างไร จากนั้นเจ้าตะขาบก็พยายามขยับขาโน้นขยับขานี้ แต่ไม่สำเร็จ เพียงลากขาไปข้างหน้าได้ 2-3 ก้าว พอหมดสิ้นหนทาง จึงหมอบลง สุดท้ายได้แต่กล่าวกับกบขี้สงสัยว่า “ต่อไปเจ้าโปรดอย่าได้เอ่ยถามข้อสงสัยข้อนี้ของเจ้า ให้ตะขาบตัวอื่นใดได้ฟังอีก ที่ผ่านมาข้าเพียงเดินไปข้างหน้าไม่เคยเกิดปัญหา แต่ตอนนี้เจ้าทำให้ข้าตกที่นั่งลำบากแล้ว ข้าไม่สามารถก้าวเดินได้ เพราะข้าไม่รู้ว่าจะขยับขาเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ด้วยขากว่าร้อยขาที่มีอยู่นี้” ปัญญาเซน : เรื่องบางเรื่อง ขบคิดมากความ กลับเพิ่มปัญหา การปฏิบัติเซนอย่างสมบูรณ์แบบ คือการใช้ชีวิตประจำวันตามธรรมชาติ ตามครรลองที่ควรจะเป็น

Read more

คำด่าดั่งของขวัญ

ขณะอาจารย์เซนออกจาริกธรรม ระหว่างการเดินทาง บังเอิญพบผู้ที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเซน คนผู้นั้นเอาแต่ประณามหยามเหยียดอาจารย์เซน ใช้คำพูดตำหนิหวังให้อาจารย์เซนได้อาย แต่ไม่ว่าจะพูดอย่างไร อาจารย์เซนกลับไม่มีท่าทีสะทกสะท้าน ยังคงสงบสำรวมดังเช่นที่เป็นมา ในที่สุดคนผู้นั้นอดรนทนไม่ได้ เอ่ยถามอาจารย์เซนด้วยความสงสัยใคร่ใจว่า "เราตำหนิประจานเจ้าถึงเพียงนี้ เหตุใดเจ้าไม่รู้สึกรู้สา อีกทั้งไม่โต้ตอบ" ยามนั้นอาจารย์เซนไม่ตอบ แต่กลับเอ่ยถามคนผู้นั้นกลับไปว่า "หากมีผู้มอบของขวัญให้ท่าน แล้วท่านปฏิเสธไม่รับ ของขวัญชิ้นนั้นนับว่าตกเป็นของผู้ใด?" คนผู้นั้นตอบว่า "ย่อมยังเป็นของผู้มอบให้" อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "นั่นก็ใช่แล้ว หากเราไม่รับคำตำหนิติด่าของท่าน เช่นนั้นมิใช่นับว่า ท่านกำลังด่าประณามตนเองหรอกหรือ?" ปัญญาเซน : เมื่อมีสรรเสริญ ต้องมีนินทา บัณฑิตผู้ฝึกตนไม่ควรยึดโลกธรรมเป็นอารมณ์

Read more