Skip to content Skip to footer

Author page: himahime

ศิษย์ที่หลงทาง

ยังมีศิษย์เซนผู้หนึ่ง มีนิสัยเกียจคร้าน ทั้งยังชอบลักขโมยของผู้อื่น พฤติกรรมของเขาเป็นที่เอือมระอาของศิษย์เซนคนอื่นๆ เป็นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อศิษย์เซนเจ้าปัญหา ถูกจับได้ว่าลักขโมยอีกครั้ง บรรดาศิษย์คนอื่นๆ จึงได้รวมตัวกันมาฟ้องร้องต่ออาจารย์เซนผานกุย โดยยื่นคำขาดว่า หากอาจารย์เซนไม่กำจัดศิษย์ผู้นี้ ให้พ้นไปจากอารามโดยทันที เหล่าศิษย์ที่เหลือจะเป็นฝ่ายออกไปจากอารามเซนแห่งนี้แทน มิคาด เมื่อได้ทราบเรื่องราว อาจารย์เซนผานกุยกลับกล่าวกับทุกคนว่า “พวกท่านล้วนเป็นผู้มีสติปัญญา สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดถูก-ผิด สิ่งใดดี-ชั่ว หากพวกท่านพาตัวพ้นจากอารามเซนแห่งนี้ไป ล้วนไม่ก่อปัญหาภายนอก ทว่าศิษย์ผู้นี้ แม้แต่ถูก-ผิด เขายังมิอาจแยกแยะได้ หากเราไม่สอนเขา แล้วผู้ใดจะสอนเขา ดังนั้น เราจำเป็นต้องให้เขาอยู่ที่อารามแห่งนี้กับเรา ส่วนพวกท่าน หากว่ามีผู้ใดไม่พอใจ และตัดสินใจออกจากอารามนี้ไป ก็สุดแท้แต่เถิด” เมื่อได้ยินดังนั้น ศิษย์เซนเจ้าปัญหา ได้แต่คุกเข่าลงกับพื้น ด้วยความซาบซึ้งใจในจิตเมตตาของอาจารย์เซน และพยายามกลับตัวเป็นคนดีในที่สุด

Read more

อารมณ์ร้ายโดยสันดาน

ครั้งหนึ่ง มีอุบาสกเอ่ยถามอาจารย์เซนผานกุยว่า "ข้าเป็นคนอารมณ์ร้ายโดยสันดาน ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์จะชี้ทางแก้ไขได้หรือไม่?” อาจารย์เซนผานกุยถามว่า "เป็น ‘สันดาน’ อย่างไร? ตอนนี้เจ้าจงแสดงออกมา เพื่อที่ข้าจะได้ช่วยแก้ไข" อุบาสกผู้นั้นจึงกล่าวว่า "มิสามารถทำได้ เพราะตอนนี้ไม่มี ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ใดมากระทบ สันดานอารมณ์ร้อน อารมณ์ร้ายนั้น จึงจะแสดงออกมา" ได้ฟังดังนั้น อาจารย์เซนผานกุยจึงกล่าวว่า "หากในตอนนี้ไม่มี ก็ไม่นับเป็นสันดาน โทสะเป็นนิสัยที่เจ้าเพาะสร้างขึ้น แต่สันดานคือสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด หากเจ้าเรียกโทสะว่าเป็นสันดาน ยิ่งทำให้ยากที่จะแก้ไข ทั้งยังไม่เป็นธรรมต่อบุพการีของเจ้าสักเท่าใด" ยามนั้นอุบาสกจึงสำนึกได้ พยายามปรับปรุงนิสัย ไม่อารมณ์เสียง่ายๆอีก ปัญญาเซน : ธรรมชาติของจิตล้วนผ่องใส เมื่อวางได้จึงหลุดพ้น

Read more

ล้างจาน-ถูพื้น

พุทธศาสนานิกายเซน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการศึกษาเซนที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ความว่า ยังมีศิษย์เซนบวชใหม่รูปหนึ่ง ต้องการศึกษาปรัชญาเซนให้ลึกซึ้งถึงแก่น จึงได้ไปกราบอาจารย์เซนเจ้าโจว พลางกล่าวว่า "กระผมเพิ่งเข้ามาสู่เส้นทางเซน จึงอยากของร้องให้ท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะการศึกษาธรรมให้เป็นพิเศษ ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถบรรลุธรรมได้" อาจารย์เซนเจ้าโจว กลับถามว่า "เจ้ารับประทานอาหารเช้าแล้วหรือยัง?" ศิษย์เซนงุนงงเล็กน้อย ที่อาจารย์ตอบไม่ตรงคำถาม แต่ก็ตอบกลับไปว่า "รับประทานแล้ว ขอบคุณครับท่านอาจารย์" มิคาด...อาจารย์เซนยังกล่าวต่อไปว่า "ถ้าเช่นนั้นจงนำจานชามที่เจ้าใช้ใส่อาหาร ไปล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย" "ล้างสะอาดแล้วครับ" ศิษย์เซนตอบอย่างอดทน "งั้นก็จงไปถูพื้นให้สะอาด" อาจารย์เซนยังสั่งต่อไป ถึงตอนนี้ ศิษย์เซนหมดความอดทน จึงเอ่ยถามอาจารย์เซนอย่างประชดประชัน ด้วยความไม่พอใจว่า "นอกจากล้างจานชาม ทำความสะอาดพื้นแล้ว ท่านอาจารย์ไม่มีหลักธรรมอื่นใดจะสอนกระผมแล้วหรือ?" คราวนี้ อาจารย์เซนจึงกล่าวตอบศิษย์ผู้นี้ไปว่า "หากมิใช่ล้างชามถูพื้นแล้ว เราก็ไม่รู้หรอกว่า เจ้าจะสามารถบรรลุธรรมจากวิธีอื่นใดได้อีก?" ปัญญาเซน : เซน มุ่งเน้นให้อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างมีสติ เนื่องเพราะพุทธภาวะนั้น สามารถเกิดได้ในทุกที่ทุกเวลา การรู้แจ้งอย่างเซนเกิดจากการปฏิบัติภารกิจในชีวิตประจำวันอย่างผู้ที่ตื่นอยู่ทุกขณะจิต

Read more

ผีบนต้นไม้

อาจารย์เซนอวิ๋นจีว์ นามเดิมเต้าฉี ชาวเมืองหนานชัง มักจะไปนั่งวิปัสสนายังถ้ำในป่าลึกเป็นประจำ พอดีกับที่ในละแวกนั้น มีเด็กซนกลุ่มหนึ่งคิดแผนการแกล้งอาจารย์เซน ด้วยการหลบซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ ณ เส้นทางที่อาจารย์เซนอวิ๋นจีว์ต้องเดินผ่าน ยามค่ำ เมื่ออาจารย์เซนเดินผ่านมา เด็กซนผู้หนึ่งจึงยื่นมือฝ่าความมืดลงไปลูบศีรษะอาจารย์เซน โดยเดิมทีเหล่าเด็กซนคาดการณ์ว่า อาจารย์เซนจะต้องสะดุ้งตกใจ เพราะคิดว่าเป็นผีมาหลอก ทว่าเมื่อโดนลูบศีรษะ อาจารย์เซนกลับสงบสำรวมดังเดิม เมื่อผิดคาด เหล่าเด็กๆจึงเป็นฝ่ายตกใจจนหดมือกลับไปเอง ส่วนอาจารย์เซนก็เดินต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันถัดมา เหล่าเด็กซนยังไม่ละความพยายาม มาดักรออาจารย์เซน เมื่อพบหน้าก็แกล้งเอ่ยถามว่า "ท่านอาจารย์ ได้ข่าวว่าละแวกนี้มีผีออกอาละวาดหลอกหลอน เกิดเรื่องเช่นนี้จริงหรือไม่?" อาจารย์เซนอวิ๋นจีว์ตอบว่า "ไม่จริง" เหล่าเด็กยังคงถามต่อไปว่า "จริงหรือ แต่พวกเราได้ยินมาว่า ยามค่ำคืนมีคนโดนผีร้ายจับศีรษะด้วยนะ" อาจารย์เซนตอบว่า "นั่นมิใช่ผีร้าย เป็นเพียงเด็กในหมู่บ้าน" เด็กๆต่างงุนงงที่อาจารย์เซนรู้ทัน จึงถามว่า "ท่านทราบได้อย่างไร?" อาจารย์เซนจึงชี้แจงว่า "เพราะมือที่จับศีรษะนั้น ทั้งนุ่มนิ่มและอบอุ่น ย่อมมิใช่ผีร้าย" ผู้เผชิญความตายแล้วไม่กลัวเกรง คือแม่ทัพใหญ่ ผู้เข้าป่าไม่กลัวสัตว์ร้ายย่อมเป็นนายพราน ผู้ลงน้ำไม่เกรงสิ่งใดมีเพียงชาวประมง ส่วนผู้บรรลุแล้วย่อมไร้ซึ่งความหวาดกลัวอันใด ปัญญาเซน : เมื่อรู้แจ้งย่อมไร้ซึ่งจิตขลาดกลัว

Read more

ความกลัดกลุ้มของตะขาบ

มีกบตัวหนึ่งที่เฝ้าสังเกตการเดินของตะขาบตัวหนึ่งอยู่เสมอ เวลาผ่านไปนานเข้า เกิดเป็นความงุนงงสงสัยขึ้นในใจ ครุ่นคิดว่า “ตัวข้าเองมีเพียง 4 ขา ยังเคลื่อนไหวไปมาได้ยากลำบาก แต่ไฉนตะขาบที่มีขานับร้อย จึงเดินได้อย่างปลอดโปร่งเพียงนี้ ช่างแปลกประหลาดยิ่งนัก ยามเดินเหิน ตะขาบทราบได้อย่างไรว่า จะหยุดขาข้างไหน ขยับขาข้างไหน จากนั้นก้าวขาไหนตามออกไปกันเล่า?” กบจึงตัดสินใจออกไปขวางทางเดินของตะขาบเอาไว้ จากนั้นเอ่ยถามว่า “ข้าถูกเจ้าทำให้งุนงงสงสัยไปหมดแล้วว่า ในแต่ละวันเจ้าเดินเหินได้อย่างไร ด้วยขาที่มากมายขนาดนี้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้” ตะขาบตอบว่า “ข้าเดินแบบนี้มาโดยตลอด ไม่เคยคำนึงถึงเรื่องนี้ แต่ในเมื่อวันนี้เจ้าถามขึ้นมา ข้าก็จะขอเวลาคิดดูสักครู่ แล้วค่อยตอบคำถามของเจ้า” ตะขาบยืนนิ่งอยู่พักใหญ่ เพื่อขบคิดว่า ที่ผ่านมาตนเองเดินอย่างไร จากนั้นเจ้าตะขาบก็พยายามขยับขาโน้นขยับขานี้ แต่ไม่สำเร็จ เพียงลากขาไปข้างหน้าได้ 2-3 ก้าว พอหมดสิ้นหนทาง จึงหมอบลง สุดท้ายได้แต่กล่าวกับกบขี้สงสัยว่า “ต่อไปเจ้าโปรดอย่าได้เอ่ยถามข้อสงสัยข้อนี้ของเจ้า ให้ตะขาบตัวอื่นใดได้ฟังอีก ที่ผ่านมาข้าเพียงเดินไปข้างหน้าไม่เคยเกิดปัญหา แต่ตอนนี้เจ้าทำให้ข้าตกที่นั่งลำบากแล้ว ข้าไม่สามารถก้าวเดินได้ เพราะข้าไม่รู้ว่าจะขยับขาเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ด้วยขากว่าร้อยขาที่มีอยู่นี้” ปัญญาเซน : เรื่องบางเรื่อง ขบคิดมากความ กลับเพิ่มปัญหา การปฏิบัติเซนอย่างสมบูรณ์แบบ คือการใช้ชีวิตประจำวันตามธรรมชาติ ตามครรลองที่ควรจะเป็น

Read more

คำด่าดั่งของขวัญ

ขณะอาจารย์เซนออกจาริกธรรม ระหว่างการเดินทาง บังเอิญพบผู้ที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเซน คนผู้นั้นเอาแต่ประณามหยามเหยียดอาจารย์เซน ใช้คำพูดตำหนิหวังให้อาจารย์เซนได้อาย แต่ไม่ว่าจะพูดอย่างไร อาจารย์เซนกลับไม่มีท่าทีสะทกสะท้าน ยังคงสงบสำรวมดังเช่นที่เป็นมา ในที่สุดคนผู้นั้นอดรนทนไม่ได้ เอ่ยถามอาจารย์เซนด้วยความสงสัยใคร่ใจว่า "เราตำหนิประจานเจ้าถึงเพียงนี้ เหตุใดเจ้าไม่รู้สึกรู้สา อีกทั้งไม่โต้ตอบ" ยามนั้นอาจารย์เซนไม่ตอบ แต่กลับเอ่ยถามคนผู้นั้นกลับไปว่า "หากมีผู้มอบของขวัญให้ท่าน แล้วท่านปฏิเสธไม่รับ ของขวัญชิ้นนั้นนับว่าตกเป็นของผู้ใด?" คนผู้นั้นตอบว่า "ย่อมยังเป็นของผู้มอบให้" อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "นั่นก็ใช่แล้ว หากเราไม่รับคำตำหนิติด่าของท่าน เช่นนั้นมิใช่นับว่า ท่านกำลังด่าประณามตนเองหรอกหรือ?" ปัญญาเซน : เมื่อมีสรรเสริญ ต้องมีนินทา บัณฑิตผู้ฝึกตนไม่ควรยึดโลกธรรมเป็นอารมณ์

Read more

ข้าวเย็นหมดแล้ว

ยังมีพระบวชใหม่รูปหนึ่ง เมื่อถึงมื้ออาหารเช้าในวันถัดไปหลังจากครองเพศบรรพชิต เกิดอาการอดรนทนไม่ไหว จึงเอ่ยถามคำถาม เพื่อหวังให้อาจารย์เซนหลงหยาชี้ทางสว่างให้ ดังนี้ "ท่านอาจารย์ ศิษย์มีข้อสงสัยมากมาย ข้อแรก : จิตวิญญาณของคนเราสามารถเป็นอมตะหรือไม่? ข้อสอง : ร่างกายของคนเราต้องเสื่อมสลายเสมอไปหรือไม่? ข้อสาม : คนเราจำต้องตายแล้วเกิดใหม่แน่หรือ? ข้อสี่ : หากเราตายแล้วเกิดใหม่ จะสามารถจำเรื่องราวในชาติที่แล้วได้หรือไม่? ข้อห้า : เซน จะทำให้เราหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดจริงหรือ?..." จากนั้นศิษย์เซนยังคงถามคำถามต่อเนื่องไปอีกมากมายไม่มีหยุด แต่ขณะที่กำลังจะเอ่ยถามคำถามต่อไป กลับถูกขัดจังหวะด้วยประโยคเดียวของอาจารย์เซนหลงหยาว่า "ข้าวเช้าของเจ้า เย็นหมดแล้ว" ปัญญาเซน : การเอาแต่ฟุ้งซ่านถึงสิ่งที่อยู่ห่างไกลจนละเลยปัจจุบันขณะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม เซนเน้นการรักษาจิตปกติ ดำรงสติระลึกรู้อยู่ทุกขณะเวลาในชีวิตประจำวัน เพราะเมื่อมีสติแล้ว ย่อมเข้าใจแก่นแท้ของสิ่งทั้งปวงโดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ

Read more

ทำบุญสุนทาน

อาจารย์เซนฝอกวงมุ่งหวังที่จะเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนออกไปให้มากที่สุด จึงดำริให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาหลายประการ ส่วนเหล่าพระลูกศิษย์ ด้วยความที่อยากจะสานต่อความหวังของพระอาจารย์ ในการเผยแผ่ศาสนา จึงได้ร่วมใจกันชี้นำให้อุบาสก อุบาสิกา ทำบุญสุนทาน เพื่อนำปัจจัยมาทำนุบำรุงศาสนา วันหนึ่ง เมื่ออาจารย์ฝอกวงเดินทางกลับมาจากจาริกธรรมยังวัดหงฝ่า มณฑลเจ้อเจียง เหล่าพระลูกศิษย์จึงพากันมารายงานผลงานของตน พระลูกศิษย์ผู้หนึ่งกล่าวอย่างปลามปลื้มใจว่า "อาจารย์ วันนี้ศิษย์เทศนาจนโยมที่ท่าทางไม่ได้ร่ำรวยผู้หนึ่ง ควักเงินบริจาคทานถึงหนึ่งร้อยตำลึง โยมผู้นั้นระบุว่ามอบไว้ให้สำหรับสร้างอุโบสถแห่งใหม่" ต่อมาพระลูกศิษย์อีกผู้หนึ่ง ก็รายงานอาจารย์ด้วยความยินดีว่า "วันนี้มีโยมที่กำลังไว้ทุกข์ผู้หนึ่ง เดินทางมากราบท่านอาจารย์ ศิษย์เลยเทศนาเขาเรื่องการทำบุญสุนทาน สุดท้าย โยมผู้นั้นตกลงใจมอบธัญพืชที่เก็บไว้สำหรับบริโภคในครอบครัว มาให้วัดเราจำนวนมาก พอฉันไปตลอดทั้งปี" จากนั้น บรรดาพระลูกศิษย์อื่นๆ ก็รายงานถึงการบริจาคทานของอุบาสก อุบาสิกา ผู้ศรัทธาในคำสอนของนิกายเซน เมื่อฟังจบ อาจารย์เซนฝอกวงกลับขมวดคิ้วนิ่วหน้า พลางกล่าวกับเหล่าศิษย์ว่า "พวกท่านลำบากมากแล้ว น่าเสียดายที่พวกท่านรับบิณฑบาตทานมามากมายแต่กลับไม่ได้รับบุญกุศลแต่อย่างใด" เหล่าศิษย์ล้วนไม่เข้าใจ กล่าวถามว่า "เหตุใดรับบิณฑบาตมาก แต่กลับไม่เป็นผลดี" อาจารย์เซนฝอกวงจึงกล่าวว่า "การหวังแต่จะให้อุบาสกอุบาสิกาเป็นผู้บริจาคปัจจัย เพื่อค้ำจุนศาสนานั้น ไม่ถูกต้อง คล้ายดั่งการฆ่าไก่เอาไข่ เพราะมีแต่เมื่อศาสนิกชนรุ่งเรือง ศาสนาจึงค่อยรุ่งเรือง ศาสนิกชนบริจาคทานปัจจัย ต้องไม่มากเกินควร จนทำให้ตนเองเดือดร้อน ผู้ศึกษาเซนอย่างเรา ไม่พึงคิดถึงแต่ตน แต่ยิ่งต้องคำนึงถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง"

Read more

ร่มกันฝน

ยังมีอุบาสกผู้หนึ่งหลบฝนอยู่ใต้ชายคา พอดีกับที่มีอาจารย์เซนผู้หนึ่งกางร่มเดินผ่านมา อุบาสกผู้นี้จึงร้องเรียกขอให้อาจารย์เซนพาตนไปด้วย โดยอ้างว่าตามหลักธรรม พระสงฆ์คือผู้ช่วยนำพาสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงทะเลทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ทว่าอาจารย์เซนกลับปฏิเสธคำขอของอุบาสก ทั้งยังกล่าวว่า "ประสกอยู่ใต้ชายคาซึ่งไม่มีฝน มิได้เปียกปอน ฉะนั้น อาตมาไม่จำเป็นจะต้องพาประสกออกไป" เมื่ออุบาสกได้ยินดังนั้น จึงก้าวออกมานอกชายคา ยืนอยู่ท่ามกลางสายฝนพรำ จนร่างกายเปียกชุ่มโชก จากนั้นขอร้องอีกครั้งให้อาจารย์เซนพาเขาไปด้วย ยามนั้น อาจารย์เซนจึงเอ่ยว่า "ประสกยังคงไม่เข้าใจ แม้ว่าขณะนี้เราทั้งสองล้วนอยู่ใต้สายฝน แต่อาตมาไม่เปียกเพราะมีร่มคุ้ม ส่วนประสกกลับเปียกปอนเพราะไร้ร่มกำบัง ดังนั้น มิใช่ว่าอาตมาไม่พาประสกไป แต่ประสกต้องเสาะหาร่มคุ้มฝนของตน เพื่อข้ามผ่านไปด้วยตนเอง" ปัญญาเซน : ผู้ดำเนินในกรอบแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยความเพียร จะเห็นแดนพ้นทุกข์ปรากฏขึ้นกับใจของตน

Read more

ปีศาจแมงมุม

ยังมีพระเซนรูปหนึ่ง ทุกครั้งที่กำหนดจิตใจเพื่อเข้าฌานสมาธิ พลันปรากฏแมงมุมตัวใหญ่เข้ามารบกวนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะไล่อย่างไรก็ไม่ไป พระเซนไม่ทราบว่าเป็นเรื่องราวใด สุดท้ายได้แต่ไปปรึกษาอาจารย์เซน เมื่อทราบปัญหาของศิษย์ อาจารย์เซนจึงแนะนำว่า "ครั้งต่อไปเมื่อเจ้านั่งสมาธิ จงเตรียมพู่กันจุ่มหมึกเอาไว้ หากปรากฏแมงมุมขึ้นอีก เจ้าจงใช้พู่กันในมือวาดวงกลมเอาไว้ที่ท้องของแมงมุมเพื่อทำสัญลักษณ์ คราวนี้เราจะได้รู้กันว่า ที่แท้แล้วแมงมุมตัวนี้ เป็นสัตว์ประหลาดมาจากที่ใดกันแน่" พระเซนจึงนำคำแนะนำของอาจารย์มาปฏิบัติ ครั้งต่อมาเมื่อเขาเริ่มนั่งสมาธิและปรากฏแมงมุมออกมารบกวนเช่นเคย จึงรีบใช้พู่กันที่เตรียมเอาไว้ วาดวงกลมบนท้องของแมงมุม ทว่าเมื่อออกจากสมาธิ พระเซนจึงพบว่า วงกลมที่เขาวาดเอาไว้บนท้องของแมงมุม บัดนี้กลับมาอยู่บนท้องของเขาเอง ยามนี้อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "ความคิดร้ายดีล้วนสร้างจากใจ ที่แท้แมงมุมตัวนั้นเป็นจิตของเจ้านั่นเองที่สร้างขึ้นมา" ปัญญาเซน : อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของคนเรา มักเกิดขึ้นมาจากภายในจิตใจของตนเอง

Read more