มีชายหนุ่มผู้หนึ่งสวมเสื้อผ้าเก่าขาด ท่าทางเฉื่อยชา เอาแต่นั่งทอดหุ่ยปล่อยให้แสงแดดโลมเลียร่างกาย สลับกับหาวหวอดๆ เป็นระยะ
เมื่ออาจารย์เซนเดินผ่านมาพบคนผู้นี้เข้า จึงเกิดความประหลาดใจจนต้องเอ่ยถามว่า
"พ่อหนุ่ม อากาศดีๆในฤดูกาลที่นานๆจะเวียนมาถึงเช่นนี้ เหตุใดเอาแต่มานั่งเปล่าประโยชน์ ใยไม่ไปลงมือทำสิ่งที่ต่างๆ ควรทำ เจ้าไม่เสียดายช่วงเวลาดีๆ เช่นนี้หรอกหรือ?"
ชายหนุ่มถอนใจครั้งหนึ่ง พลางตอบว่า "บนโลกใบนี้ นอกจากร่างกายแล้ว ไม่มีสิ่งใดเป็นของข้าสักอย่าง เช่นนั้นใยต้องสิ้นเปลืองแรงกายแรงใจไปกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยเล่า?"
"เจ้าไม่มีบ้านหรือ?" อาจารย์เซนถาม
"ไม่มี หากมีบ้านก็ต้องเป็นภาระคอยดูแล เช่นนั้นไม่ต้องมีเสียเลยดีกว่า" ชายหนุ่มตอบ
"เจ้าไม่มีคนที่เจ้ารักหรือ?" อาจารย์เซนถามต่อ
"ไม่มี หากมีคนรัก เมื่อหมดรักก็กลายเป็นความเกลียดชัง สู้ไม่มีเสียเลยดีกว่า" ชายหนุ่มว่า
"แล้วมิตรสหายเล่า มีหรือไม่?" อาจารย์เซนไม่ละความพยายาม
"ไม่มี เมื่อมีเพื่อน สักวันก็ต้องสูญเสียเพื่อน แล้วจะมีไปทำไม" ชายหนุ่มท้วง
"เจ้าไม่คิดจะทำงานหาเงินบ้างหรือ?" อาจารย์เซนยังคงถามต่อไป
"ไม่คิด ได้เงินมาสุดท้ายก็ต้องจับจ่ายออกไป เช่นนั้นใยต้องไปสิ้นเปลืองพลังงานหามาตั้งแต่ต้น" ชายหนุ่มกล่าวแย้ง
"อ้อ" สุดท้ายอาจารย์เซนพยักหน้ารับรู้ แต่ยังคงกล่าวว่า "ท่าทางข้าต้องรีบไปหาเชือกมามอบให้เจ้าสักเส้นหนึ่งแล้ว"
"เหตุใดต้องมอบเชือกให้ข้า?" ชายหนุ่มถามด้วยความสงสัย
"ให้เจ้าผูกคอตาย" อาจารย์เซนตอบ
ชายหนุ่มได้ยินก็ถามกลับไปด้วยความโมโหว่า "ท่านอยากให้ข้าตายหรือไง?"
อาจารย์เซนจึงตอบว่า
"ถูกแล้ว เพราะคนเราทุกคนล้วนต้องตาย หากคิดตามตรรกกะของเจ้า ในเมื่อสุดท้ายต้องตายแล้วคนเราจะเกิดมาทำไม และหากเป็นเช่นนั้นก็แปลว่า การมีชีวิตมีตัวตนของเจ้าในวันนี้นับเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ด้วยเช่นกัน ก็ในเมื่อเปล่าประโยชน์แล้ว ใยไม่รีบผูกคอตายไปเสียเลยเล่า?"
มีคหบดีผู้หนึ่ง ประสบปัญหาในอาชีพการงานอย่างหนัก เนื่องจากกิจการค้าขายของเขา ยิ่งทำไปก็มีแต่ซบเซาลงทุกวันๆ เขาขบคิดไม่เข้าใจว่า เป็นเพราะเหตุใด ดังนั้น จึงเดินทางขึ้นเขาไปขอคำชี้แนะจากอาจารย์เซน
เมื่ออาจารย์เซนได้ฟังปัญหาของคหบดี ก็กล่าวกับเขาว่า
"ก่อนที่ข้าจะตอบคำถามของท่าน ที่ลานหลังวัดมีคันโยกน้ำบาดาลอยู่อันหนึ่ง ท่านจงไปโยกน้ำมาให้ข้า 1 ถัง"
คหบดีรับคำ และรีบออกไปโยกน้ำบาดาล
ผ่านไปครึ่งวัน คหบดีจึงเข้ามาพร้อมเหงื่อชุ่มโชกตัว พลางกล่าวว่า "เครื่องโยกน้ำไม่สามารถโยกสูบน้ำขึ้นมาได้"
อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "เช่นนั้นท่านจงลงเขาไปซื้อน้ำมาถังหนึ่ง"
คหบดีจึงเดินทางลงเขาไปซื้อน้ำ เมื่อคหบดีแบกน้ำขึ้นมาที่วัด กลับมีน้ำอยู่เพียงครึ่งถังมิใช่หนึ่งถัง โดยคหบดีอธิบายว่า ที่นำน้ำขึ้นมาเพียงครึ่งถัง ไม่ใช่เพราะเขาเกรงจะหมดเปลืองเงิน แต่เป็นเพราะเส้นทางขึ้นเขาลำบาก จึงคิดว่าไม่อาจจะนำน้ำขึ้นมาเต็มถังได้
เมื่ออาจารย์เซนได้ฟังเหตุผล ก็ยังคงยืนยันให้เขากลับลงเขา ไปหาบน้ำเต็มถังกลับมาก่อน จึงจะเข้าใจว่าเหตุใดกิจการของเขาจึงมีแต่เจริญลง
คหบดีแม้รู้สึกแปลกใจ แต่สุดท้ายก็ยอมลงเขาไปอีกรอบ คราวนี้เขาพยายามแบกน้ำเต็มถังอีกหนึ่งถัง ขึ้นมาที่วัดบนเขาได้สำเร็จ จากนั้นอาจารย์เซนจึงนำคหบดีไปยังคันโยกน้ำบาดาลหลังวัดอีกครั้ง ทั้งยังให้เขาลองเทน้ำลงไปในบ่อบาดาล แล้วลองโยกคันโยกน้ำดู
คหบดีเทน้ำครึ่งถังลงไปในบ่อ แล้วลองโยกคันโยกน้ำ ผลปรากฏว่า ไม่มีน้ำไหลออกมาแม้สักหยด น้ำครึ่งถังกับแรงกายที่เขาทุ่มเทไปในการขึ้นลงเขา กลับสูญเปล่า
ถึงตอนนี้คหบดีเริ่มนึกเสียดายน้ำอีกหนึ่งถัง ที่ตนลงแรงไปหาบมาจากตีนเขา แต่หากเขาไม่เทน้ำอีกถังหนึ่งลงไปในบ่อ สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็มีเพียงน้ำถังเดียวนี้ ที่รอวันใช้จนหมด
เมื่อคหบดีเข้าใจเหตุผล จึงได้ตัดสินใจเทน้ำเต็มถังลงไปในบ่อ จากนั้นลองโยกคันโยกน้ำดู ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จ…
ณ อารามเซน ยังมีลานดินโล่งที่ถูกทิ้งแห้งแล้งผืนหนึ่ง เณรน้อยเห็นดังนั้นจึงเอ่ยกับอาจารย์เซนว่า
"ท่านอาจารย์ ศิษย์คิดว่าเราควรหาเมล็ดพืชมาหว่านลงบนดินผืนนี้สักหน่อยดีไหมครับ ปล่อยไว้แห้งแล้งเช่นนี้เห็นแล้วช่างไม่สบายตาเอาเสียเลย"
อาจารย์เซนตอบว่า "เมื่อไหร่เมื่อนั้น สุดแล้วแต่"
เมื่อถึงกลางฤดูใบไม้ร่วง เณรน้อยนำเมล็ดพืชไปหว่านลงบนดินผืนนั้น แต่กลับมีลมพัดมาหอบใหญ่ ยิ่งหว่านไปเท่าไหร่ เมล็ดพืชก็ถูกลมพัดปลิวไปกับสายลม
เณรเห็นดังนั้นก็ตกใจมาก ตะโกนบอกอาจารย์ว่า
"แย่แล้ว..ท่านอาจารย์ เมล็ดพืชโดนลมพัดไปแล้ว"
อาจารย์เซนกลับไม่ตื่นตกใจ เพียงกล่าวว่า "ที่ลมพัดไปเป็นเพียงเมล็ดฝ่อ แม้จะหว่านลงในดินก็ไม่งอกเงย ปล่อยให้พวกมันสุดแล้วแต่ลมพาไปเถิด"
เมื่อทำการหว่านเมล็ดพืชเรียบร้อย กลับมีนกกระจิบฝูงใหญ่แห่กันมากินเมล็ดพืช พอเณรน้อยเห็นดังนั้นก็กล่าวด้วยความกังวลว่า "แย่แล้ว..ท่านอาจารย์ นกกระจิบคงจะกินเมล็ดผักที่หว่านไว้จนหมดเป็นแน่"
อาจารย์เซนจึงกล่าวกับเณรน้อยว่า "จงอย่ากังวล เมล็ดผักมากมาย นกกินไม่หมด จะกินเท่าไหร่ก็สุดแล้วแต่พวกมันเถิด"
พอตกกลางคืน ฝนตกลงมาห่าใหญ่ ทำเอาเณรน้อยนอนไม่หลับ เนื่องจากเป็นห่วงว่า เมล็ดพืชจะลอยหายไปกับสายน้ำ
พอเช้าขึ้นมาจึงรีบไปที่ลานดิน ปรากฏว่าเมล็ดผักอันตรธานไปดังคาด เณรน้อยทุกข์ใจยิ่งนัก จึงรีบวิ่งไปบอกอาจารย์เซนให้มาดู
เมื่ออาจารย์เซนทราบเรื่องก็กล่าวว่า "เณรไม่ต้องทุกข์ใจไป เมล็ดพืชบางส่วนเพียงจมลงไปในดิน ส่วนเมล็ดพืชที่ลอยไปกับสายน้ำ เมื่อมันหยุดลงที่ไหน มันก็จะเจริญงอกงามขึ้น ณ ที่นั้นเอง สุดแท้แต่วาสนาเถิด"
เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ยอดสีเขียวอ่อนของต้นพืชก็ปรากฏขึ้นมาเป็นหย่อมๆบนลานโล่ง ที่แท้เมล็ดพืชที่ไม่ไหลไปกับสายน้ำได้งอกขึ้นมาแล้ว เมื่อเณรน้อยเห็นดังนั้นก็ดีใจเป็นอันมาก รีบไปรายงานอาจารย์เซนทันทีว่า
"พืชที่ศิษย์ปลูกงอกงามขึ้นมาแล้ว ช่างดีจังเลยครับท่านอาจารย์"
อาจารย์เซนพยักหน้าพลางกล่าวแค่เพียงว่า "ดีแล้ว…
ในวันหนึ่งที่อากาศร้อนจัด มวลดอกไม้รอบบริเวณอารามเซนโดนแดดเผาจนเหี่ยวเฉา เมื่อเณรน้อยเห็นดังนั้น จึงกล่าวด้วยความตกใจว่า
"แย่แล้ว ต้องรีบรดน้ำพวกมันสักหน่อย" จากนั้นจึงรีบยกถังไปตักน้ำตั้งท่าจะนำมารดต้นไม้
เมื่ออาจารย์เซนเห็นเหตุการณ์จึงกล่าวห้ามว่า "จงอย่ารีบร้อนไป ตอนนี้แสงแดดแรงมาก หากรดน้ำลงไป เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น จะพาลให้ดอกไม้ตายเป็นแน่ จงรอให้ถึงยามค่ำก่อนเถิดค่อยรดน้ำ"
ยามค่ำ เหล่าดอกไม้ที่โดนแดดมาทั้งวัน ล้วนแห้งเหี่ยว เณรน้อยจึงบ่นว่า
“ไม่รีบรดน้ำให้เร็วกว่านี้ ตอนนี้ดอกไม้พวกนี้คงแห้งตายไปหมดแล้ว ต่อให้รดน้ำยังไงก็คงไม่ฟื้นขึ้นมาหรอก"
อาจารย์เซนได้ยินจึงปรามว่า "อย่าพูดมาก รดน้ำไป!"
เมื่อได้น้ำที่ชุ่มฉ่ำราดรดลงไป ไม่นานเหล่าดอกไม้ก็กลับมาชูช่อดังเดิม เณรน้อยเห็นดังนั้นจึงอุทานด้วยความยินดีว่า
"โอ้โฮ.. ดอกไม้เหล่านี้ช่างทนยิ่งนัก ยังสามารถยื้อไว้ไม่ยอมตาย"
ทว่าอาจารย์เซนกล่าวแย้งว่า "เหลวไหล มิใช่ยื้อไว้ไม่ยอมตาย แต่เป็นการมีชีวิตอยู่อย่างดีต่างหาก"
"แล้วมันต่างกันอย่างไร?" เณรน้อยถามด้วยความงุนงง
อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "ย่อมต่างกัน เราถามเจ้า ปีนี้เราอายุ 80 กว่าแล้ว เรียกว่าเรายื้อไว้ไม่ยอมตาย หรือมีชีวิตอยู่อย่างดี?"
หลังจากเสร็จสิ้นการทำวัตรเย็น อาจารย์เซนเรียกเณรน้อยมาพบ ทั้งยังถามถึงเรื่องที่ค้างไว้ว่า "เป็นอย่างไร คิดออกแล้วหรือไม่?"
"คิดไม่ออกครับ" เณรน้อยตอบ
อาจารย์เซนจึงอธิบายว่า
"เด็กโง่ ผู้ที่ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเอาแต่กลัวความตาย ย่อมเรียกว่า ยื้อไว้ไม่ยอมตาย ส่วนผู้ที่มองไปข้างหน้าในทุกๆวันจึงเรียกว่ามีชีวิตอยู่อย่างดี เมื่อมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่ออีกหนึ่งวัน ก็ต้องใช้มันให้ดีที่สุด ผู้ที่ยามมีชีวิตเอาแต่กลัวความตาย เอาแต่จุดธูปสวดมนต์ภาวนา เพื่อหวังว่าตายแล้วจะกลายเป็นพุทธะ…
ในระหว่างที่อาจารย์เซนออกจาริกธรรม ได้รับนิมนต์ไปพำนักยังบ้านของหญิงชราผู้หนึ่ง ทว่าเมื่อไปถึงพบว่าหญิงชราหน้าตาอมทุกข์ ทั้งยังร้องไห้ไม่หยุด อาจารย์เซนจึงกล่าวกับนางว่า
“ท่านมีความทุกข์ใจอันใดจึงร้องไห้ติดต่อกันไม่หยุดเช่นนี้?”
หญิงชราตอบว่า "ข้ามีบุตรสาวอยู่สองคน คนโตแต่งออกไปให้กับพ่อค้าขายรองเท้าผ้า ส่วนคนเล็กแต่งให้กับพ่อค้าขายร่ม วันใดท้องฟ้าปลอดโปร่ง แดดจ้า ข้าก็เฝ้าแต่กังวลว่า ร้านขายร่มของบุตรสาวคนเล็กต้องขายไม่ได้เป็นแน่ จึงอดไม่ได้ที่จะทุกข์เศร้าแทนนาง แต่หากวันใดฟ้าครื้ม ฝนพรำ ข้าก็กังวลว่ากิจการร้านรองเท้าผ้าของบุตรสาวคนโตย่อมไม่ดีเป็นแน่ เพราะผู้คนไม่อยากใส่รองเท้าที่เปียกน้ำแฉะชื้น เมื่อทุกวันผ่านไปในลักษณะนี้ ข้าจึงได้แต่กังวลจนหลั่งน้ำตาออกมา"
เมื่ออาจารย์เซนได้ฟังจึงกล่าวว่า "ที่แท้เป็นเช่นนี้ ท่านคิดแบบนี้ย่อมไม่ถูกต้องแล้ว"
หญิงชราสงสัยจึงถามว่า "มารดาวิตกกังวลแทนบุตร มีอันใดไม่ถูกต้อง? ข้ารู้ว่ากังวลไปก็แก้ไขอะไรมิได้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดเป็นห่วงพวกนาง"
ยามนี้ อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "มารดาวิตกกังวลเพราะบุตรมิใช่เรื่องผิด แต่มารดาเบิกบานใจเพราะบุตรย่อมดีกว่า ท่านลองคิดดู เมื่อวันแดดจ้าฟ้าใส ร้านรองเท้าผ้าของบุตรสาวคนโตของท่านย่อมขายดิบขายดีเป็นพิเศษ และเมื่อถึงวันฝนตก กิจการร้านขายร่มของบุตรสาวคนเล็กก็ย่อมไปได้สวยเช่นกัน หากคิดเช่นนี้ท่านก็สามารถเบิกบานใจไปกับบุตรสาวทั้งสองได้ในทุกๆ วัน ไม่ต้องทุกข์เศร้าแล้ว"
เมื่อหญิงชราได้ฟังคำแนะนำของอาจารย์เซน ก็กระจ่างแจ้ง จากนั้นเมื่อคิดได้จึงรู้สึกสบายใจ ทุกครั้งที่นึกถึงบุตรสาวทั้งสอง นางล้วนมีรอบยิ้มแห่งความสุขประดับบนใบหน้าเสมอ
ปัญญาเซน : ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้คนเรามีความทุกข์ได้เท่ากับตัวของตัวเอง สุข-ทุกข์อยู่ที่ใจ เมื่อเปลี่ยนมุมมองความคิดก็เปลี่ยนได้แม้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะอีกด้านของความทุกข์ก็คือความสุข ไม่ว่าเรื่องใด เมื่อมองให้ทุกข์ย่อมทุกข์ได้ มองให้สุขย่อมสุขได้ ดังนั้น จงหยุดสร้างทุกข์ให้กับตนเอง
ขณะที่อาจารย์เซนติ่งโจวและพระลูกศิษย์กำลังทำวัตรอยู่ ณ อารามแห่งหนึ่ง พลันมีลมพัดมาหอบใหญ่ ทำเอาใบไม้บนต้นพากันร่วงหล่นลงมาเต็มลานดิน
อาจารย์เซนจึงเดินออกไปก้มลงเก็บใบไม้เหล่านั้นใส่ย่ามทีละใบ ทีละใบ แต่ไม่ว่าจะเก็บสักเท่าไหร่ ใบไม้ก็ยังถูกลมพัดร่วงหล่นลงมาไม่หยุดหย่อน
ศิษย์เซนเห็นดังนั้นจึงกลัวอาจารย์เซนลำบาก ร้องบอกออกไปว่า "ท่านอาจารย์มิต้องเก็บใบไม้เหล่านี้หรอก ยังไงๆ เสีย พรุ่งนี้เช้าพวกกระผมก็จะต้องเก็บกวาดทำความสะอาดลานวัดอยู่แล้ว ปล่อยให้มันร่วงลงมาเถิด"
อาจารย์เซนติ่งโจว ตอบอย่างไม่ใส่ใจว่า "เจ้าไม่อาจกล่าวเช่นนั้น แม้จะเก็บกวาดแล้ว แต่การที่ข้าเก็บใบไม้ขึ้นมาอีกใบหนึ่ง ย่อมช่วยทำให้ขณะนี้มันสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม"
ศิษย์ได้ฟังดังนั้นก็กล่าวแย้งว่า "อาจารย์ ใบไม้ร่วงมากมาย ขณะที่ท่านเดินเก็บไปถึงเบื้องหน้า เบื้องหลังท่านก็มีใบไม้ใบใหม่ร่วงลงมาเพิ่มอยู่ดี แล้วอย่างนี้ท่านจะเก็บหมดได้อย่างไร มิใช่เสียแรงเปล่าหรอกหรือ?"
อาจารย์เซน ทางหนึ่งก้มหน้าก้มตาเก็บใบไม้ต่อไป อีกทางหนึ่งก็กล่าวกับลูกศิษย์ว่า
"ใบไม้ไม่เพียงร่วงหล่นลงมาบนลานดินดอก แต่กลับร่วงหล่นลงบนลานในใจของเราท่านตลอดเวลา การเก็บกวาดใบไม้ก็เหมือนการชำระจิตใจ มิอาจปล่อยให้ใบไม้ทับถมจนยากแก้ไข เมื่อหมั่นเก็บกวาดใบไม้ที่อยู่ในใจไปเรื่อยๆ ย่อมเก็บกวาดจนหมดจดได้ในสักวัน"
มีอุบาสิกาผู้หนึ่ง ทุกๆ วันต้องตัดดอกไม้นำไปถวายพระที่วัดมิเคยขาด วันหนึ่งบังเอิญพบอาจารย์เซนอู๋เต๋อ อาจารย์เซนจึงกล่าวกับนางว่า "หากยึดตามคัมภีร์ที่ได้มีการบันทึกไว้ การนำดอกไม้ที่สดหอมมาถวายพระอย่างสม่ำเสมอ ผลบุญจะส่งให้สีกามีรูปโฉมงดงามในชาติหน้า"
อุบาสิกาผู้นั้นเล่าว่า "ทุกครั้งยามที่ดิฉันนำดอกไม้มาถวายพระ จะรู้สึกเสมือนจิตวิญญาณได้ถูกน้ำชำระล้างจนสะอาดหมดจด ทว่าเมื่อกลับไปถึงบ้านจิตใจกลับฟุ้งซ่านวุ่นวาย จึงอยากสอบถามท่านว่าทำอย่างไรดิฉันจึงจะรักษาความบริสุทธิ์ของจิตใจเอาไว้ได้ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของโลกฆราวาส?"
อาจารย์เซนอู๋เต๋อถามกลับไปว่า "สีกานำดอกไม้สดมาถวายพระ อยากทราบว่าสีกามีวิธีรักษาดอกไม้ให้สดอยู่ได้อย่างไร?"
อุบาสิกาจึงตอบว่า "วิธีรักษาความสดของดอกไม้ ที่ดีที่สุดคือเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกวัน และก่อนที่จะนำดอกไม้ไปใส่ในน้ำใหม่ ให้ตัดปลายก้านดอกส่วนที่แช่อยู่ในน้ำทิ้งไปก่อน เพราะส่วนนั้นเป็นส่วนที่ก้านเน่าเปื่อยจนไม่สามารถดูดซึมน้ำขึ้นมาเลี้ยงดอกได้ซึ่งจะทำให้ดอกไม้เหี่ยวเฉาง่าย"
เมื่อได้ฟังดังนั้น อาจารย์เซนอู๋เต๋อจึงกล่าวว่า "การรักษาจิตใจดวงหนึ่งให้ใสบริสุทธิ์กลับมึหลักการเฉกเช่นกัน สิ่งแวดล้อมที่เราใช้ชีวิตอยู่ ณ ขณะนี้ก็เป็นดั่งน้ำในแจกัน ส่วนตัวเราเป็นเช่นดอกไม้ ที่ต้องหมั่นชำระจิตใจให้สะอาด พิเคราะห์ตนเอง ทำความดี ละเว้นความชั่ว จึงจะสามารถซึมซับธรรมมะเข้ามาในชีวิตได้"
อุบาสิกาได้รับคำสั่งสอนก็ยินดียิ่ง จากนั้นจึงกราบลาอาจารย์เซนพลางกล่าวว่า "ขอบคุณท่านที่ชี้ทางสว่าง ดิฉันหวังว่าวันหนึ่งจะได้มีโอกาสใช้ชีวิตศึกษาพระธรรมที่วัดแห่งนี้ สดับรับฟังเสียงระฆังทำวัตรและการสวดมนต์ภาวนา ผ่านชีวิตด้วยความสงบสุข"
ทว่าอู๋เต๋อไต้ซือกลับบอกนางว่า "ลมหายใจของสีกาคือเสียงสวดมนต์ ชีพจรคือเสียงย่ำระฆัง ร่างกายคืออารามศักดิ์สิทธิ์ สองหูคือพุทธะ เช่นนี้ยังมีที่ใดไม่สงบสุข ไม่จำเป็นต้องมาใช้ชีวิตในวัดก็สามารถรักษาจิตใจให้สงบพิสุทธิ์ได้ด้วยตนเอง ในทางกลับกัน หากจิตใจไม่อาจขจัดความฟุ้งซ่าน แม้ว่าร่างกายจะอยู่ ณ อารามลึกเร้นในหุบเขาก็มิอาจพบความสงบสุข ..."เซน" เน้นย้ำให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ฉะนั้นใยต้องรอจนถึงวันพรุ่งนี้"…
ยังมีชายหนุ่มผู้หนึ่งที่นับได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เขาพยายามศึกษาหาความรู้ในศาสตร์หลายๆ แขนง แต่ทว่าในอาชีพการงานกลับมีความสำเร็จเพียงระดับหนึ่ง ไม่สามารถที่จะเจริญก้าวหน้าไปถึงยังจุดที่ตนเองหวังไว้ได้ เขาขบคิดไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงได้ไปขอคำชี้แนะจากอาจารย์เซน
เมื่ออาจารย์เซนได้รับฟังปัญหาของชายหนุ่ม กลับไม่เอื้อนเอ่ยอันใดออกมา เพียงแต่เชื้อเชิญให้ชายหนุ่มรับประทานอาหารเจด้วยกันที่วัด บนโต๊ะเรียงรายไว้ด้วยอาหารเจละลานตานับร้อยชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ชายหนุ่มไม่เคยพบเห็นมาก่อน เขาจึงได้พยายามลิ้มลองอาหารเหล่านั้นให้ครบทุกอย่าง ต่อเมื่อรับประทานครบ จึงค่อยวางตะเกียบและรู้สึกว่าตนเองอิ่มเกินไป
อาจารย์เซนถามว่า "อาหารที่ท่านรับประทานลงไปนั้นมีรสชาติเช่นไรบ้าง?" ชายหนุ่มตอบด้วยความลำบากใจว่า "มีรสชาติร้อยพัน ยากที่จะจำแนกแยกแยะ สุดท้ายรู้สึกแค่เพียงว่ากระเพาะขยายอย่างยิ่ง" อาจารย์เซนถามต่อไปว่า "เช่นนั้นแปลว่าท่านรู้สึกสบายดีและพอใจใช่หรือไม่?" ชายหนุ่มตอบว่า "มิใช่ กลับทรมานอย่างยิ่ง" เมื่ออาจารย์เซนได้ฟัง ก็เพียงแต่ยิ้มเล็กน้อย ไม่พูดจา
วันต่อมาอาจารย์เซนชวนชายหนุ่มปีนขึ้นไปบนยอดเขา แต่เมื่อทั้งสองปีนขึ้นไปถึงกลางทาง ชายหนุ่มได้พบกับหินคริสตัลสีสดสวยแวววาวมากมาย จึงเกิดความอยากได้ และเก็บหินเหล่านั้นใส่ย่ามของตนจนเต็มแน่น แต่น้ำหนักของหินที่มากเกินไปทำให้เขาไม่สามารถปีนขึ้นไปต่อได้ ขณะเดียวกันก็ไม่อาจตัดใจทิ้งคริสตัลเหล่านั้น
ขณะที่ยืนลังเลอยู่กลางทางนั้นเอง อาจารย์เซนจึงได้กล่าวขึ้นว่า "ท่านควร "วางลง" ได้หรือยัง? มิเช่นนั้นจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดได้อย่างไร?"
เมื่อชายหนุ่มได้ฟัง ก็พลันกระจ่างแจ้งในใจ สองมือวางก้อนหินเหล่านั้นลง พลางป่ายปีนขึ้นไปถึงยอดภูสูงได้สำเร็จ จากนั้นจึงกราบลาอาจารย์เซนเดินทางกลับ เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปี ชายหนุ่มก็ประสบความสำเร็จดังที่มุ่งหวังไว้
ปัญญาเซน : รับประทานอาหารก็ดี ปีนเขาก็ดี การศึกษาหาความรู้ก็ดี ขณะที่ได้มาซึ่งสิ่งใด ย่อมต้อง สูญเสียสิ่งหนึ่งไปเสมอ…
ชายหนุ่มคนหนึ่ง ผู้ที่มีนิสัยใจเร็วด่วนได้ ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดล้วนไม่สามารถสงบจิตสงบใจ เพราะต้องการเร่งรัดให้ทุกสิ่งเป็นไปดั่งใจตน ครั้งหนึ่ง เขานัดพบคนรักที่ใต้ต้นไม้ แต่ทว่ามาก่อนเวลานัดมากเกินไป ด้วยนิสัยใจร้อนไม่ชอบรอทำให้เดินวนไปวนมา กระสับกระส่ายอยู่ใต้ต้นไม้แห่งนั้น
ยามนั้นเอง ปรากฏอาจารย์เซนซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเซียนวิเศษผู้หนึ่ง เดินมาหยุดอยู่ตรงหน้าชายหนุ่มผู้นั้น พร้อมทั้งยื่นวัตถุทรงกลมชิ้นหนึ่งให้ พลางกล่าวว่า
“นี่เป็นของวิเศษ หากเจ้าไม่ชอบการรอคอย ก็จงหมุนปุ่มนี้ไปทางขวาหนึ่งรอบ เจ้าก็สามารถที่จะย่นระยะเวลาจากความเป็นจริงให้เร็วขึ้นไปตามที่เจ้าต้องการ”
เมื่อชายหนุ่มได้ฟังดังนั้น ยังคงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เมื่อเขาลองหมุนปุ่มไปตามคำบอก พลันคนรักของเขาก็ปรากฏกายขึ้น ทั้งยังส่งสายตาหวานซึ้งให้กับเขา ในใจชายหนุ่มบังเกิดความอยากครอบครองจึงคิดว่าหากเร่งเวลาไปจนทั้งสองแต่ง งานกันได้คงดียิ่ง จากนั้นหมุนปุ่มไปอีกรอบหนึ่ง ก็พลันพบว่าตนเองกลายเป็นเจ้าบ่าวอยู่ในงานแต่งงานอันเลิศหรูอลังการ ส่วนคนรักของเขาอยู่ในชุดเจ้าสาวงดงามรายรอบไปด้วยแขกเหรื่อมากมาย จากนั้นชายหนุ่มจึงคิดอยากใช้เวลาอยู่กับเจ้าสาวของเขาในห้องหอตามลำพังจึง ได้หมุนปุ่มวนไปด้านขวาอีกครั้ง
หลังจากนั้น ชายหนุ่มก็ยังคงหมุนปุ่มวิเศษไปเรื่อยๆ ไปถึงตอนที่เขามีบุตรชาย กระทั่งมีหลานชาย ทั้งยังมิใช่เพียงคนเดียวแต่มีบุตรหลานเต็มบ้าน กระทั่งบุตรหลานสร้างเนื้อสร้างตัวกลายเป็นขุนนางใหญ่ไปปกครองทั่วทุกสารทิศ ผู้คนต่างพากันเคารพนับถือ…ถึงตอนนี้ ในใจชายหนุ่มเต็มไปด้วยความปีติยินดี
จากนั้นเมื่อ หมุนปุ่มอีกรอบ ชายหนุ่มกลับกลายเป็นเฒ่าชรา โรคร้ายรุมเร้านอนรอความตายอยู่บนเตียง บรรดาบุตรหลานอกตัญญูบางส่วนพากันมาขนทรัพย์สินภายในบ้านออกไปจนเกลี้ยง ทั้งยังใจดำอำมหิตนำเฒ่าชราไปทิ้งยังชายป่า ชายที่ตอนนี้ทั้งชราทั้งป่วยไข้อดอยากหิวโหย ค่อยๆ อ่อนแรงลง ลมหายใจขาดช่วง ก้าวเข้าสู่ความตายทีละน้อย…ถึงตอนนี้ ชายหนุ่มแตกตื่นตกใจจนขนหัวลุก หยาดเหงื่อไหลโทรมกาย
“เป็นอย่างไรบ้าง?” เสียงอาจารย์เซนดังขึ้น “พ่อหนุ่ม ท่านยังอยากให้เวลาหมุนไปอย่างรวดเร็วอยู่หรือไม่?“
“ข้าจวนจะจบชีวิตแล้ว ยังจะต้องการให้เวลาหมุนไปเร็วอันใดอีกเล่า” ชายหนุ่มตอบอย่างทอดอาลัย…
คนผู้หนึ่ง เอ่ยถามอาจารย์เซนว่า "สิ่งใดน่ากลัวที่สุดในโลก?" อาจารย์เซนตอบว่า "ความอยาก" คนผู้นั้นยังคงไม่เข้าใจ อาจารย์เซนจึงเล่าเรื่องๆ หนึ่งให้เขาฟัง ใจความดังนี้ "ยังมีชาวนาผู้หนึ่ง ต้องการหาซื้อที่ดินสักหนึ่งผืน เขาได้ยินมาว่ามีคนต้องการขาย จึงได้เดินทางไปพบเพื่อติดต่อขอซื้อ เมื่อไปถึง ชาวนาจึงได้เอ่ยถามคนผู้นั้นว่า "ที่ดินของท่านขายอย่างไร?" ผู้ที่ต้องการขายที่ดินตอบว่า "ขอเพียงท่านมอบเงินให้ข้า 1000 ตำลึงเท่านั้น จากนั้นให้เวลาท่านหนึ่งวันเต็มๆ นับจากพระอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งพระอาทิตย์ตก ให้ท่านออกเดินเท้าไปรอบๆ ที่ดิน หากท่านสามารถเดินวนไปได้ไกลเท่าไหร่ ที่ดินเหล่านั้นล้วนนับเป็นของท่าน แต่หากว่าท่านเดินทางกลับมายังจุดเริ่มต้นไม่ทันพระอาทิตย์ตกดิน ท่านจะไม่ได้ที่ดินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว" ชาวนาได้ฟังดังนั้นในใจก็คิดว่า "เช่นนี้ก็ไม่เลว ข้ายอมลำบากหนึ่งวัน เดินให้เร็วที่สุด ไกลที่สุด เพื่อที่จะได้ที่ดินกว้างใหญ่ การซื้อขายนี้ช่างคุ้มค่ายิ่งนัก" ดังนั้นเขาจึงตกลงทำสัญญากับผู้ขายที่ดินรายนั้น วันรุ่งขึ้น เมื่อพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า ชายชาวนาก็เร่งฝีเท้าจ้ำเดินออกไปทันที เมื่อถึงยามเที่ยงวัน เขาหันหลังกลับมามองก็พบว่าเขามาไกลจนมองไม่เห็นจุดเริ่มต้นแล้ว จึงค่อยเลี้ยงโค้งเพื่อเดินวนไปอีกด้านหนึ่ง พร้อมทั้งก้าวเดินต่อไปโดยไม่ยอมหยุดพัก แม่ว่าจะหิวโหยและเหนื่อยอย่างยิ่งก็ตาม เขาก้าวเดินต่อไป ต่อไป จนกระทั่งพบว่าพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าแล้ว ในใจเขาจึงร้อนรนขึ้นมาเพราะเกรงว่าหากกลับไปไม่ทันพระอาทิตย์ตกจะหมดสิทธิ์ครอบครองที่ดินทั้งหมด เขาจึงรีบหันหลังกลับเพื่อเดินไปยังจุดเริ่มต้น…