ยังมีแพทย์สงครามผู้หนึ่ง ทำหน้าที่รักษาเหล่าทหารที่บาดเจ็บในสมรภูมิรบมานับไม่ถ้วน ทหารหลายรายได้รับการรักษาจากแพทย์สงครามจนหายดี แต่กลับไปเสียชีวิตกลางสนามรบก็มีไม่น้อย
เหตุการณ์เหล่านี้วนเวียนไป จนกระทั่งนานวันเข้า แพทย์สงครามค่อยๆ สั่งสมความทุกข์ขึ้นในจิตใจจนถึงที่สุด เขาเอาแต่ครุ่นคิดว่า
"หากทหารที่ตายในสนามรบเหล่านั้นชะตาขาดอยู่แล้ว เหตุใดต้องมาให้ข้ารักษาจนหายก่อนค่อยไปตายอีก และหากข้ารักษาคนเจ็บจนหายดี แต่สุดท้ายเขาต้องกลับไปตายในสงคราม เช่นนั้นวิชาแพทย์ของข้าจะมีความหมายอันใด"
เมื่อคิดถึงตอนนี้ เขาจึงรู้สึกว่าการเป็นแพทย์สงครามนั้นช่างไร้ค่าสิ้นดี
แพทย์สงครามไม่อาจปฏิบิติหน้าที่ต่อไปได้ จึงตัดสินใจออกเดินทางขึ้นเขาไปพบอาจารย์เซน และบอกเล่าถึงความทุกข์ใจของตนเอง
ทั้งยังถามอาจารย์เซนว่า หากเหตุการณ์ยังวนเวียนอยู่เช่นนี้ต่อไป เขายังจะดำรงอาชีพเป็นแพทย์สงครามไปทำไม?
เขารั้งอยู่บนยอดเขากับอาจารย์เซน ผ่านวันเวลาเนิ่นนานในการหาคำตอบ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาจึงได้กลับลงเขามาเป็นแพทย์สงครามเช่นเดิม เนื่องจากเขาค้นพบคำตอบของคำถามนี้แล้ว
แพทย์สงครามกล่าวกับตนเองว่า "ที่ข้าต้องทำหน้าที่ต่อไป เนื่องเพราะข้าคือแพทย์ผู้หนึ่งอย่างไรเล่า"
ปัญญาเซน : สรรพสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัย อยู่กับปัจจุบัน มองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น มิใช่ตามที่ตนอยากหรือไม่อยากให้เป็น
เมื่อซั่นจิ้งอายุได้ 27 ปี ได้ละทิ้งตำแหน่งขุนนางเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เดินทางขึ้นเขาเล่อผู่ ไปกราบเป็นศิษย์ของอาจารย์เซนหยวนอาน อาจารย์มอบหมายให้ซั่นจิ้งดูแลสวนผักของวัด หวังให้เขาได้เรียนรู้ปรัชญาเซนจากการทำงานในสวนผัก
วันหนึ่ง ที่วัดมีพระหนุ่มรูปหนึ่งเข้าใจว่าตนเองสำเร็จธรรมะแล้ว อยากลงเขาออกธุดงค์ไปในโลกกว้าง จึงได้ไปกราบขออนุญาตจากอาจารย์เซนหยวนอาน เมื่ออาจารย์เซนหยวนอานได้ทราบความต้องการของพระหนุ่ม เพียงแต่แย้มยิ้มและกล่าวว่า
“สี่ทิศล้วนคือภูสูง เจ้าจักไปในทางใด?” ทว่าพระหนุ่มมิอาจเข้าใจปรัชญาเซนที่แฝงอยู่ในคำถามนั้น จึงได้แต่หมุนตัวกลับไป
พระหนุ่มบังเอิญผ่านไปยังแปลงผักของวัด พอดีกับที่ซั่นจิ้งกำลังดายหญ้าอยู่ เมื่อซั่นจิ้งเห็นพระรูปนี้ออกอาการหน้านิ่วคิ้วขมวด จึงได้เอ่ยถามว่า "ศิษย์พี่เป็นไรไปแล้ว?"
พระหนุ่มจึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวโดยละเอียดให้ศิษย์น้องฟัง
เมื่อได้ฟัง ซั่นจิ้งพลันเข้าใจทันทีว่า “ภูสูงสี่ทิศ” หมายถึง อุปสรรคนานัปการ ที่แท้อาจารย์เซนหยวนอานเพียงต้องการทดสอบว่า พระหนุ่มมีความตั้งใจมั่นในการไปธุดงค์มากน้อยเพียงใด แต่น่าเสียดายที่พระรูปนี้ไม่เข้าใจความนัย ซั่นจิ้งจึงบอกว่า
“กอไผ่ทึบมิอาจกั้นสายน้ำไหล ภูผาสูงมิอาจขวางเมฆลอย” ความหมายคือ หากแม้มีความมุ่งมั่นพยายาม อุปสรรคใดๆ ก็ล้วนผ่านไปได้
พระหนุ่มยินดียิ่ง รีบกลับไปพบอาจารย์เซนหยวนอาน จากนั้นจึงกล่าวประโยคที่ว่า “กอไผ่ทึบมิอาจกั้นสายน้ำไหล ภูผาสูงมิอาจขวางเมฆลอย” ออกมา ทั้งยังมั่นใจว่าอาจารย์จะต้องพอใจและเอ่ยปากชมเชย แล้วตนก็จะออกเดินทางลงเขาทันที
มิคาด เมื่ออาจารย์เซนฟังจบ นิ่งอึ้งไปครู่หนึ่ง จากนั้นขมวดคิ้วจ้องตาพระหนุ่มพลางกล่าวว่า "นี่ย่อมมิใช่คำตอบที่เจ้าคิดเอง ผู้ใดช่วยเหลือเจ้ากันแน่?"
พระหนุ่มเห็นอาจารย์เซนหยวนอานปักใจเพียงนั้น จึงได้แต่สารภาพ เอ่ยชื่อพระซั่นจิ้งออกมา อาจารย์เซนหยวนอานจึงได้กล่าวกับพระหนุ่มว่า
"ในภายภาคหน้า…
ไป๋จีว์อี้เป็นกวีเอกนามกระเดื่องในสมัยราชวงศ์ถัง โดยในบันทึกของเขาระบุว่า ตนเองประพันธ์บทกวีไว้ทั้งสิ้น 3,840 บท ซึ่งหากนับกวีในยุคเดียวกัน ถือว่าเขาประพันธ์บทกวีไว้มากเป็นอันดับหนึ่งของแผ่นดิน
ไป๋จีว์อี้มีอีกนามหนึ่งว่า “เล่อเทียน” ในวัยหนุ่มผ่านชีวิตลำบากยากแค้น จึงมีความเข้าอกเข้าใจความทุกข์ทรมานจากความยากจนของคนในสังคม
เมื่ออายุได้ 28 ปี เขาสอบจอหงวนได้ในตำแหน่งจิ้นซื่อจึงได้เข้ารับราชการ ต่อมาถูกข้อหากระทำผิดต่อราชสำนัก ถูกลดยศไปรับตำแหน่งขุนนางดูแลเมืองเจียงโจว สุดท้ายสังกัดกระทรวงยุติธรรม
เล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง ไป๋จิว์อี้เดินทางไปกราบอาจารย์เซนผู้หนึ่ง เมื่อไปถึงพบว่าที่พำนักของอาจารย์เซนคือยอดต้นสนสูงชัน ซึ่งมองดูแล้วไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง
ไป๋จีว์อี้จึงปรารภกับอาจารย์เซนว่า "ตำแหน่งที่ท่านอาจารย์อยู่ ดูไปอันตรายยิ่งนัก"
อาจารย์เซนจึงกล่าวตอบมาว่า "ตำแหน่งของเจ้าตอนนี้ ยิ่งอันตรายมากกว่ามาก"
ไปจีว์อี้จึงถามกลับด้วยความงุนงงว่า "กระผมมีตำแหน่งทางราชการมั่นคง ทำงานเพื่อบ้านเมือง จะมีอันตรายได้อย่างไร?" "สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปรตลอดเวลา ดั่งฟืนสุมกองไฟไม่มีหยุด หากใจไม่นิ่ง กระสับกระส่ายวุ่นวายไปตามสิ่งเร้ารอบด้าน ย่อมทำให้เจ้าตกอยู่ในอันตรายอย่างที่สุด" อาจารย์เซนกล่าวตักเตือน
ปัญญาเซน : ดำรงสติอยู่กับปัจจุบันขณะในทุกการกระทำ ไม่ว่าอยู่ที่ใดล้วนรอดปลอดภัย หากไร้สติอยู่กับตัว ทุกๆ แห่งกลับเป็นที่อันตราย
ครั้งหนึ่งซูตงโพได้ประพันธ์บทกวี ความว่า “อภิวาทองค์เหนือฟ้า รัศมีเจิดจ้าส่องไพศาล ลมแปดทิศพัดโบกไม่สะท้าน ประทับมั่นในปทุมม่วงทอง”
ซึ่งคำว่า “ลมแปดทิศ” ในที่นี้หมายถึง โลกธรรมแปด อันประกอบด้วย ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
เมื่อประพันธ์เสร็จ ซูตงโพเข้าใจว่าบทกวีบทนี้ของตน มีความลุ่มลึกในทางธรรมไม่น้อย จึงได้ให้คนนำไปมอบให้อาจารย์เซนฝออิ้น ณ วัดจินซาน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ โดยหวังว่าเมื่ออาจารย์เซนได้อ่านคงจะยกย่องตนในฐานะที่ปฏิบัติธรรมจนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว
เมื่ออาจารย์เซนเปิดบทกวีออกอ่าน ได้หยิบพู่กันเขียนอักษรเติมลงไปสองตัว จากนั้นให้คนนำกลับมาคืนซูตงโพ
มิคาด เมื่อซูตงโพเปิดดู ก็พบข้อความของอาจารย์เซนฝออิ้น ที่เขียนเอาไว้เพียงว่า “ผายลม” ทำให้เขาบันดาลโทสะยิ่งนัก จึงรีบขึ้นเรือข้ามน้ำไปพบอาจารย์เซนยังวัดจินซานทันที
เมื่อพบอาจารย์เซน ซูตงโพก็เอ่ยถามด้วยความเกรี้ยวกราดว่า เหตุใดอาจารย์เซนจึงได้ใช้ข้อความระรานผู้อื่นถึงเพียงนี้
อาจารย์เซนเพียงตอบว่า "ท่านว่าลมแปดทิศพัดมาไม่สะท้าน แต่ไฉนเพียงหนึ่งผายลม จึงพัดจนท่านข้ามแม่น้ำมาได้?" เมื่อนั้นซูตงโพจึงค่อยสำนึกตัวได้
ปัญญาเซน : จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม คือมงคลชีวิตประการหนึ่ง
อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียน เป็นผู้บรรลุธรรมขั้นสูง จึงมีผู้มาปวารณาตัวเป็นศิษย์มากมาย
วันหนึ่ง ศิษย์เซนต้งซานได้มาสนทนาธรรรมกับอาจารย์เซนอวิ๋นเหยียน จากนั้นจึงเอ่ยปากว่าจะขอสิ่งหนึ่งจากอาจารย์ อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนจึงกล่าวถามว่าต้องการสิ่งใด
ต้งซานตอบอย่างสุภาพว่า "ศิษย์ขอดวงตาของท่านอาจารย์"
เมื่อได้ยินดังนั้น อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนยังคงสำรวมตน เพียงกล่าวถามกลับไปว่า "แล้วดวงตาของท่านเองเล่า"
ต้งซานตอบว่า "ศิษย์ไม่มีดวงตามาตั้งแต่แรก"
อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนจึงถามกลับไปว่า "เช่นนั้น หากเจ้ามีดวงตา ดวงตาของเจ้าจะอยู่ ณ ที่ใด?" ต้งซานไม่ตอบคำ
ครู่หนึ่ง อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนก็กล่าวถามอีกว่า "แท้จริงแล้ว ที่เจ้าต้องการคือดวงตาของข้า หรือดวงตาของตัวเจ้าเองกันแน่?"
มิคาดต้งซานกลับถอนหายใจ พลางตอบว่า "ที่แท้แล้ว ที่ศิษย์ต้องการ กลับมิใช่ดวงตา"
ครั้งนี้อาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนไม่ต่อคำ เพียงบอกให้ต้งซานกลับออกไป ทว่าศิษย์ต้งซานยังคงไม่ขยับเขยื้อน ทั้งยังกล่าวว่า "ศิษย์ไม่มีดวงตา แม้นออกไปก็มองไม่เห็นหนทาง"
ยามนั้นอาจารย์เซนอวิ๋นเหยียนยกมือขึ้นตบที่อกของตนเอง พลางเอ่ยว่า "เมื่อครู่เรามิใช่ให้เจ้าไปตั้งแต่แรกแล้วหรือ ไฉนยังบอกว่ามองไม่เห็นอีกเล่า?"
ปัญญาเซน : ดวงตาที่มองเห็นธรรม เป็นสิ่งเฉพาะตน ที่มิอาจให้ผู้ใดและมิอาจเอาจากผู้ใด ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้บรรลุธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง
ยังมีสมณะรูปหนึ่งนามว่า “เต้าซิ่ว” เป็นผู้มีความมุมานะในการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง ทว่าทำอย่างไรก็ยังมิอาจบรรลุธรรม มองไปรอบข้างนักบวชรูปอื่นๆ ที่เพิ่งศึกษาธรรมทีหลังตน มีไม่น้อยสามารถเข้าถึงแก่นแท้แห่งเซนแล้ว
สมณะเต้าซิ่วเห็นดังนั้นจึงเข้าใจว่า ตนเองคงไม่มีคุณสมบัติในการศึกษาเซน ขาดปฏิภาณไหวพริบ สุดท้ายตัดสินใจออกธุดงค์เพื่อหวังว่าจะมีความสำเร็จ
ก่อนเดินทาง สมณะเต้าซิ่วได้เข้ามากราบลาอาจารย์เซนก่วงอี่ว์ โดยกล่าวกับอาจารย์ว่า
"ท่านอาจารย์ ศิษย์ทำให้ความเมตตากรุณาของท่านต้องสูญเปล่า นับตั้งแต่ศิษย์ออกบวชอยู่ที่วัดนี้มานานนับ 10 ปี ยังคงไม่อาจเข้าถึงเซนได้แม้เพียงกระผีก ดูไปศิษย์คงไร้วาสนา จึงได้แต่ออกไปธุดงค์ เพื่อหาทางเข้าถึงธรรมด้วยวิธีอื่น"
อาจารย์เซนก่วงอี่ว์จึงตอบศิษย์ว่า "ในเมื่อเจ้ายังไม่บรรลุธรรม เหตุใดจึงออกเดินทางจากที่นี่ไป หรือว่าเจ้าจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ในสถานที่อื่น?"
เต้าซิ่วจึงอธิบายความในใจต่ออาจารย์เซนว่า "ศิษย์อยู่ที่นี่ ทุกๆวันนอกจากรับประทานอาหารและนอนหลับแล้ว ล้วนใช้เวลาทั้งหมดไปกับการบำเพ็ญเพียร ศิษย์ทุ่มเท ทว่าไร้วาสนา ขณะที่สมณะรูปอื่นแม้ไม่พากเพียรเท่า แต่กลับพบความก้าวหน้ามากกว่า เห็นทีศิษย์คงต้องออกธุดงค์พบความลำบาก เผื่อว่าจะสามารถบรรลุธรรม"
อาจารย์เซนก่วงอี่ว์ได้ฟังจึงกล่าวว่า "รู้แจ้ง...คือสิ่งที่ออกมาจากภายในตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สามารถอธิบายความได้ ทั้งยังไม่อาจส่งต่อให้ผู้อื่น หากยังไม่รู้ ก็มิอาจเร่งให้รู้ ผู้อื่นก็คือผู้อื่น เจ้าก็คือเจ้า เจ้าต้องศึกษาเซนไปตามวิถีของตนเอง มิสามารถนำสองเรื่องนี้มาปนกันได้" "ท่านอาจารย์ ท่านยังไม่เข้าใจ เมื่อเทียบการเรียนรู้ของตัวศิษย์กับผู้อื่น ก็ไม่ต่างกับนำพญาอินทรีมาเทียบกับนกกระจอกอย่างไรอย่างนั้น" สมณะเต้าซิ่วยังคงดึงดัน
"ใหญ่อย่างไร เล็กอย่างไร" อาจารย์เซนถาม
สมณะเต้าซิ่วตอบว่า "พญาอินทรีเพียงกางปีกก็บินไปได้ไกลหลายร้อยลี้ ทว่าศิษย์ได้แต่บินต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไปได้ไม่กี่จั้ง*เท่านั้น" (*จั้ง คือหน่วยวัดของจีน…
อาจารย์เซนอู๋เซียง เดินทางจาริกธรรมไปทั่วทุกสารทิศ วันหนึ่งระหว่างการเดินทางเกิดกระหายน้ำขึ้นมา จึงได้มองหาแหล่งน้ำ เมื่อพบเข้าก็ปรากฏว่า มีชายหนุ่มผู้หนึ่งกำลังทำหน้าที่ควบคุมระหัดวิดน้ำอยู่ในบริเวณนั้น อาจารย์เซนอู๋เซียงจึงเอ่ยปากขอน้ำดื่ม
ชายหนุ่มผู้นั้น เมื่อพบเห็นอาจารย์เซน ก็ใช้สายตามอง พร้อมทั้งเอ่ยปากว่า
"อาจารย์เซน หากวันหนึ่งข้าละทางโลกก็จะออกบวชเช่นกัน แต่เมื่อถึงวันนั้นข้าจะเสาะหาที่เร้นกาย ตั้งใจนั่งสมาธิศึกษาธรรม ไม่มีทางออกเดินทางเร่ร่อนไปเรื่อย เหมือนท่านในตอนนี้"
อาจารย์เซนจึงถามชายหนุ่มผู้นั้นกลับไปว่า "แล้วเมื่อใดกันเล่าที่เจ้าจะละทางโลกได้"
ชายหนุ่มตอบว่า "นับคนรุ่นเดียวกัน มีเพียงข้าที่ทราบหลักการทำงานของระหัดวิดน้ำอย่างทะลุปรุโปร่ง จึงทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการจ่ายน้ำคนเดียวของหมู่บ้าน หากวันใดวันหนึ่ง ปรากฏผู้มารับช่วงต่อหน้าที่นี้แทนข้า ถึงตอนนี้ข้าก็จะหมดภาระและสามารถออกบวชได้"
อาจารย์เซนยังคงถามต่อไปว่า
"เจ้าบอกว่าเจ้าแม่นในหลักการของระหัดวิดน้ำที่สุด อย่างนั้นเราถามเจ้า หากระหัดวิดน้ำจมลงไปในน้ำทั้งหมด หรือไม่ก็ไม่กระทบถูกน้ำเลยแม้แต่ส่วนเดียว จะเกิดอะไรขึ้น?"
ชายหนุ่มตอบโดยไม่ต้องคิดว่า
"การทำงานของระหัดวิดน้ำ ย่อมต้องให้ครึ่งหนึ่งอยู่ในน้ำ ครึ่งหนึ่งอยู่เหนือน้ำ หากจมลงไปในน้ำทั้งหมด นอกจากจะไม่สามารถหมุนได้แล้ว ยังจะหักพังไหลไปตามน้ำ ในทางกลับกันหากระหัดวิดน้ำไม่มีส่วนไหนจมน้ำเลย ก็ไม่สามารถวิดน้ำขึ้นมาได้"
เมื่อชายหนุ่มกล่าวจบ อาจารย์เซนจึงบอกว่า
"ความสัมพันธ์ของระหัดกับสายน้ำ ก็เหมือนความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลก หากคนผู้หนึ่งคลุกคลีจมจ่อมอยู่ในโลกิยะอย่างเต็มตัว ย่อมถูกเกลียวคลื่นแห่งโลกีย์พัดพาไปอย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกัน ชีวิตที่ขาวสะอาดปราศจากการข้องแวะกับเรื่องราวความเป็นไปทางโลก ก็คล้ายดั่งไร้ราก เพราะเมื่อไม่รู้จักไม่เข้าใจว่าทางโลกเป็นอย่างไร ก็ยากที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์หรือกิเลสตัณหาได้"
ยังมีอารามเซนสองแห่งตั้งอยู่ใกล้กัน ยามที่เณรน้อยจากอารามหลังแรกจะเดินไปตลาด จะต้องผ่านอารามหลังที่สอง ซึ่งมีเณรน้อยอีกผู้หนึ่งที่มักจะออกมาล้อเลียนเป็นประจำ
วันหนึ่ง เณรน้อยจากอารามหลังที่หนึ่ง ออกเดินไปตลาดเหมือนเช่นเคย เณรจากอารามหลังที่สองจึงออกมาร้องถามว่า "ท่านจะไปไหน?" "เท้าไปที่ใด เราก็ไปที่นั่น" เณรจากอารามหลังแรกตอบ
เมื่อได้ฟังคำตอบ เณรจากอารามหลังที่สองก็อับจนถ้อยคำ บ่ายวันนั้นเขาจึงกลับไปขอให้อาจารย์ของตนแนะนำ
หลังจากได้ฟังเรื่องราว อาจารย์จึงแนะว่า
"วันรุ่งขึ้น หากเขาตอบเจ้าเช่นเดิม เจ้าก็จงถามกลับไปว่า 'หากไม่มีเท้า แล้วท่านจะไปไหนได้เล่า' รับรองว่าเณรผู้นั้นต้องหมดคำโต้ตอบแน่"
วันรุ่งขึ้น เณรจากอารามหลังที่สองจึงได้ไปดักรอที่เดิม เมื่อเณรจากอารามหลังที่หนึ่งเดินผ่านมา เขาจึงรีบเอ่ยถามว่า
"วันนี้ท่านจะไปไหน?" จากนั้นเตรียมโต้ตอบด้วยคำที่อาจารย์เสี้ยมสอนมาอย่างดี
ปรากฏว่าเณรผู้ไปตลาดกลับตอบว่า "ลมไปที่ใด เราก็ไปที่นั่น"
ได้ยินดังนั้น เณรจากอารามหลังที่สองรู้สึกผิดคาด จึงไม่อาจตอบอะไรได้อีก ตกบ่ายได้แต่กลับไปขอคำชี้แนะจากอาจารย์เช่นเดิม
คราวนี้อาจารย์เริ่มไม่พอใจ ตำหนิศิษย์ว่า "เจ้าช่างโง่งมนัก เหตุใดไม่ถามกลับไปว่า 'แล้วถ้าไม่มีลมพัด ท่านจะไปที่ใด' แล้วถ้าคราวหน้าเณรผู้นั้นเปลี่ยนถ้อยคำเป็นเรื่องใด เจ้าก็จงใช้ถ้อยคำนั้นตอบกลับ เช่น 'น้ำไหลไปไหน เราก็ไปที่นั้น' เจ้าก็จงถามไปว่า 'ถ้าไม่มีน้ำ ท่านจะไปอย่างไร' เข้าใจหรือไม่?"
ได้ฟังคำสั่งสอนของอาจารย์ เณรน้อยจากอารามหลังที่สองยินดียิ่งนัก หมายมั่นปั้นมือว่าคราวหน้าต้องทำให้เณรจากอารามหลังแรกอับจนถ้อยคำให้จงได้
วันรุ่งขึ้น เมื่อเณรซื้อผักเดินผ่านมา เณรจากอารามหลังที่สองก็ร้องถามด้วยความกระหยิ่มใจว่า "วันนี้ เณรน้อยท่านจะไปที่ไหน?"
มิคาด…
อาจารย์เซน นามซือหม่า ต้องการคัดเลือกพระลูกวัด ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ยังวัดแห่งหนึ่งบนภูเขาต้าเหวย และเพื่อคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด จึงได้ลั่นระฆังเรียกพระมารวมตัวกันยังลานวัด จากนั้นถามคำถามข้อหนึ่งให้ทุกคนตอบ
อาจารย์เซนชูคนโทน้ำขึ้นมาใบหนึ่ง จากนั้นกล่าวว่า “สิ่งนี้ไม่ใช่คนโทน้ำ แต่เป็นอะไร?”
บรรดาพระลูกวัดต่างจ้องมองด้วยความงงงวย ไร้ซึ่งคำตอบ เนื่องเพราะสิ่งที่อาจารย์เซนถืออยู่นั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นคนโทน้ำ หากไม่ให้ตอบว่าคนโทน้ำ ก็มิทราบจะตอบอย่างไรดี
ขณะนั้นเอง มีพระรูปหนึ่งนามว่าหลิงโย่ว ซึ่งทำหน้าที่ผ่าฟืน จุดไฟ หุงอาหารภายในวัด กล่าวโพล่งขึ้นมาว่า
“ขอให้ศิษย์ลองตอบดูสักครั้ง”
บรรดาพระรูปอื่นๆ เห็นพระรูปนี้ท่าทางทึ่มทื่อ จึงพากันหัวเราะขบขัน
พระหลิงโย่วก้าวออกมาข้างหน้า รับเอาคนโทน้ำมาจากอาจารย์เซน แล้ววางลงบนพื้น จากนั้นพลันเตะคนโทน้ำ จนกระเด็นกระดอนหายลับจากกำแพงวัดไป
อาจารย์เซนเห็นดังนั้น จึงกล่าวว่า “เจ้าสมควรรับตำแหน่งเจ้าอาวาสแห่งวัดต้าเหวย”
บรรดาพระลูกวัดยังคงขบคิดไม่เข้าใจ อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า “ในเมื่อมิใช่คนโทน้ำ ก็จงเตะทิ้งไปเสีย ที่แท้เป็นสิ่งใดล้วนไม่จำเป็นต้องไถ่ถามให้มากความ”
ปัญญาเซน : ในชีวิตคนเราล้วนเผชิญกับปัญหา หรือทางเลือกที่ยากจะตัดสินใจมากมาย ทั้งที่แท้จริงแล้ว “การเลือก” นั้นง่ายดาย เพียงเตะสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตของตนเอง ออกไปให้พ้นทาง ย่อมพบคำตอบที่ถูกต้องในที่สุด
ในการแสดงธรรมครั้งหนึ่ง พระศากยมุนีพุทธเจ้าได้เล่าถึงเรื่องราวหนึ่งไว้ว่า...
พ่อค้าวาณิชย์ฐานะร่ำรวยผู้หนึ่งมีภรรยาทั้งสิ้น 4 นาง
ภรรยาคนแรกฉลาดปราดเปรียวน่ารัก คอยติดตามใกล้ชิดเสามีตลอดเวลา ไม่เคยห่างแม้เพียงก้าวเดียว
ภรรยาคนที่สอง พ่อค้าได้มาจากการช่วงชิง บังคับ เนื่องเพราะนางมีรูปโฉมงดงามยิ่ง
ภรรยาคนที่สาม เป็นผู้คอยดูแลจัดการเรื่องราวความเป็นไปจุกจิกในชีวิตประจำวัน ทำให้สามีมีชีวิตที่สงบเรียบร้อย
ส่วนภรรยาคนสุดท้าย ขยันขันแข็ง มุมานะทำงานอย่างหนัก จนทำให้พ่อค้าผู้เป็นสามี หลงลืมการดำรงอยู่ของนางไป
ครั้งหนึ่ง พ่อค้าวาณิชย์จำเป็นต้องออกเดินทางไปไกลแสนไกล เขาจึงคิดที่จะให้ภรรยาคนใดคนหนึ่งติดตามไปดูแล เมื่อเขาเอ่ยปากต่อภรรยาทั้งสี่นาง
ภรรยาคนแรกก็ชิงกล่าวว่า “ท่านเดินทางไปเองเถิด เพราะข้าไม่ต้องการไปด้วย”
ภรรยาคนที่สองกล่าวว่า “เดิมทีข้าก็เป็นภรรยาท่านเพราะถูกช่วงชิง บังคับ มิได้เต็มใจแต่แรก ดังนั้น แน่นอนว่าข้าไม่ต้องการตามท่านไป”
ภรรยาคนที่สามกล่าวว่า “แม้ว่าข้าจะเป็นภรรยาของท่าน แต่ข้าก็ไม่อยากทุกข์ทรมาน เดินทางออกไปนอนกลางดินกินกลางทราย ดังนั้น อย่างมากที่สุด ข้าสามารถเดินทางไปส่งท่านยังชานเมือง"
ภรรยาคนสุดท้ายกล่าวว่า “ในเมื่อข้าเป็นภรรยาของท่าน ไม่ว่าท่านจะไปที่ใด ข้าล้วนต้องติดตามท่านไป”
ดังนั้น พ่อค้าผู้ร่ำรวยจึงได้พาภรรยาคนที่สี่ออกเดินทางไปด้วยกัน
ในตอนท้าย พระศากยมุนีพุทธเจ้าได้เอ่ยกับเหล่าพระสาวกว่า “ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า พ่อค้าวาณิชย์ผู้นี้คือใคร?”
จากนั้นจึงกล่าวว่า “ย่อมคือตัวของท่านเอง”
ภรรยาคนแรก หมายถึง ร่างกายเลือดเนื้อ เมื่อคนเราตายไปร่างกายย่อมเน่าเปื่อย ไม่อาจติดตามไปด้วย
Xภรรยาคนที่สอง หมายถึง ทรัพย์สมบัติเงินทอง ซึ่งแต่เดิมเกิดมาล้วนไม่ได้มาด้วย แม้จะอยากได้จนต้องแย่งชิงมาเป็นของตน แต่เมื่อตายไปก็ไม่อาจนำไปด้วย…