สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล ได้รับบอกเล่าจากเหล่าสาวกว่า ในเมืองสาวัตถีมีสมณพราหมณ์และปริพาชกมากมาย ต่างคนต่างเชื่อ ต่างความเห็น
แต่ละฝ่ายก็ยึดทฤษฎีของตนว่าถูกต้อง ดูถูกเหยียดหยามกัน ทำให้ประชาชนลังเลสงสัยว่าจะเชื่อใครดี ใครผิดใครถูก แทนที่จะชี้ว่าฝ่ายไหนผิด ฝ่ายไหนถูก พระพุทธองค์ได้ชักนิทานมาเล่าให้สาวกฟัง
นานมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี่แหละ มีพระราชาองค์หนึ่งรับสั่งให้ประชุมคนตาบอดแต่กำเนิดทั่วประเทศ ท่านไม่ได้บอกว่าเกณฑ์คนตาบอดมาได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าคงจำนวนมากพอดูแหละครับ
เมื่อคนตาบอดมากันพร้อมแล้ว พระราชาจึงให้แบ่งออกเป็น 8 พวก ให้นำช้างมาให้พวกเขาคลำดูพวกละแห่ง คือ ศีรษะบ้าง งวงบ้าง ตลอดจนปลายหาง ตามลำดับ
เสร็จแล้วตรัสถามว่า ช้างมีลักษณะเป็นอย่างไร
พวกที่คลำศีรษะก็กราบทูลว่า “ช้างเหมือนหม้อน้ำ พ่ะย่ะค่ะ”
พวกที่คลำหูกราบทูลว่า “เหมือนกระด้ง พ่ะย่ะค่ะ”
“สองพวกนั้นผิด พ่ะย่ะค่ะ ช้างไม่ได้เหมือนอย่างที่ว่าเลย มันเหมือนผาลไถต่างหาก” พวกที่คลำงากราบทูล
พวกที่คลำงวงกราบทูลว่า “เหมือนงอนไถ”
พวกที่คลำลำตัวกราบทูลว่า “เหมือนฉางข้าว”
“เหมือนเสาเรือน” อีกพวกที่คลำเท้าพญาคชสารตอบ
“ไม่จริง เหมือนครกตำข้าวต่างหาก” อีกฝ่ายที่คลำหลังแย้ง
“เหมือนสากต่างหาก” พวกที่คลำโคนหางโต้
“ขอเดชะ พวกที่กราบทูลมาตั้งแต่ต้น ล้วนไม่รู้จักช้าง ข้าพระพุทธเจ้ารู้จักดี ช้างเหมือนไม้กวาดไม่ผิดเพี้ยน พ่ะย่ะค่ะ” พวกสุดท้ายที่คลำปลายหางกราบทูลด้วยความมั่นใจ
คลำช้างตัวเดียวกัน แต่เห็นไม่เหมือนกันเลย ต่างฝ่ายต่างเถียงกันว่าตนถูก จนเกิดวิวาทกันต่อหน้าพระที่นั่ง “ช้างเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น (โว้ย)”
พระราชาพระองค์นั้นทรงพระสรวลด้วยความสำราญพระราชหฤทัย
เล่านิทานเสร็จ พระพุทธองค์ก็ตรัสสรุปว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก เหมือนคนตาบอด ไม่รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์ อะไรคือธรรม อะไรมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ก็ทะเลาะวิวาทกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก”
“คนที่มองอะไรมุมเดียวแล้วยึดติดอยู่ในแง่มุมที่ตนมองเห็นนั้น ไม่แคล้วต้องวิวาทกัน”
*** เรื่องตาบอดคลำช้างนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 136 ภายใต้หัวเรื่องว่า “กิรสูตร ว่าด้วยความเห็นแย้งกัน” ***