Skip to content Skip to footer
11May

ศิลปะแห่งการให้อภัย

ในประเทศญี่ปุ่น มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเกเร ติดเหล้า ติดการพนัน แม่ห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง จนปัญญาจะทำให้กลับตัวเป็นคนดีได้หลวงลุงซึ่งบวชเป็นพระเซนอยู่ทราบเรื่อง รีบเดินทางกลับมายังบ้านน้องสาวและพำนักที่บ้านหลังนั้นหนึ่งคืนเช้ามาขณะกำลังจะเดินทางกลับ หลวงลุงหารองเท้ามาสวมด้วยกิริยางกๆ เงิ่นๆ เจ้าหนุ่มที่เพิ่งฟื้นจากอาการเมาแอ๋กลับจากบ่อนเมื่อใกล้รุ่งเห็นเข้า เขาจึงกุลีกุจอเข้าไปช่วยผูกเชือกรองเท้า หลวงลุงยืดตัวขึ้นพลางลูบหัวพร้อมกล่าวว่า “หลานเอ๊ย ! หลวงลุงต้องขอโทษด้วยที่รบกวนเธอ ดูเอาเถอะ คนเราวันหนึ่งก็ต้องแก่เหมือนหลวงลุงนี่แหละ พอแก่แล้วทำอะไรก็ไม่สะดวก หูตาฝ้าฟางลงทุกที นี่แค่ผูกเชือกรองเท้ายังต้องพึ่งคนอื่นเลย หลวงลุงขอโทษเธอจริงๆนะ เฮ้อ! ไม่น่าเกิดมาสร้างภาระให้ใครเลย”ไม่พูดเปล่า น้ำตาหลวงลุงร่วงพรูลงบนหลังมือเจ้าหลานชาย นาทีนั้นเอง ชายหนุ่มเริ่มรู้สึกว่าเขาทอดทิ้งหลวงลุงมาเป็นเวลานานแล้วใจก็เชื่อมโยงถึงผู้เป็นแม่ ซึ่งต้องคอยเป็นห่วงเป็นใยเขาวันแล้ววันเล่า โอ… เขากลายเป็นภาระของแม่ไปตั้งแต่เมื่อไหร่กัน หยาดน้ำตาบนหลังมือพลันให้เขาเกิดสามัญสำนึกถึงความไม่ได้เรื่องของตน จึงบอกว่า “หลวงลุงครับ ผมต่างหากที่ต้องขอโทษ ผมละเลยทั้งแม่และหลวงลุงมาโดยตลอด จากนี้ไปผมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขอหลวงลุงให้อภัยผมด้วย”จากนั้นเป็นต้นมา แม่ก็ได้ลูกชายคนใหม่มาด้วยกุศโลบายในการทำให้หลานชายรู้สึกสำนึกผิดจากหลวงลุงของเขานั่นเองการให้อภัยจึงไม่ใช่การบอกว่า “ฉันยกโทษให้เธอ” แล้วจบกัน หากแต่ต้องมาจากการที่ คนทำผิดเกิดจิตสำนึกขึ้นมาอย่างถ่องแท้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นผิด แล้วอยากเริ่มต้นใหม่ อยากแก้ไขตัวเอง หากดำเนินไปในลักษณะนี้ จึงจะเป็นการให้อภัยในความหมายที่แท้

leave a comment