ครั้งหนึ่งซูตงโพได้ประพันธ์บทกวี ความว่า “อภิวาทองค์เหนือฟ้า รัศมีเจิดจ้าส่องไพศาล ลมแปดทิศพัดโบกไม่สะท้าน ประทับมั่นในปทุมม่วงทอง”
ซึ่งคำว่า “ลมแปดทิศ” ในที่นี้หมายถึง โลกธรรมแปด อันประกอบด้วย ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
เมื่อประพันธ์เสร็จ ซูตงโพเข้าใจว่าบทกวีบทนี้ของตน มีความลุ่มลึกในทางธรรมไม่น้อย จึงได้ให้คนนำไปมอบให้อาจารย์เซนฝออิ้น ณ วัดจินซาน ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ โดยหวังว่าเมื่ออาจารย์เซนได้อ่านคงจะยกย่องตนในฐานะที่ปฏิบัติธรรมจนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว
เมื่ออาจารย์เซนเปิดบทกวีออกอ่าน ได้หยิบพู่กันเขียนอักษรเติมลงไปสองตัว จากนั้นให้คนนำกลับมาคืนซูตงโพ
มิคาด เมื่อซูตงโพเปิดดู ก็พบข้อความของอาจารย์เซนฝออิ้น ที่เขียนเอาไว้เพียงว่า “ผายลม” ทำให้เขาบันดาลโทสะยิ่งนัก จึงรีบขึ้นเรือข้ามน้ำไปพบอาจารย์เซนยังวัดจินซานทันที
เมื่อพบอาจารย์เซน ซูตงโพก็เอ่ยถามด้วยความเกรี้ยวกราดว่า เหตุใดอาจารย์เซนจึงได้ใช้ข้อความระรานผู้อื่นถึงเพียงนี้
อาจารย์เซนเพียงตอบว่า “ท่านว่าลมแปดทิศพัดมาไม่สะท้าน แต่ไฉนเพียงหนึ่งผายลม จึงพัดจนท่านข้ามแม่น้ำมาได้?” เมื่อนั้นซูตงโพจึงค่อยสำนึกตัวได้
ปัญญาเซน : จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม คือมงคลชีวิตประการหนึ่ง